ยุคนี้ เลี้ยงลูก 1 คน ต้องหมดเงินเท่าไร พ่อแม่แทบกระอัก เจอสารพัดปัญหา

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ยุคนี้ เลี้ยงลูก 1 คน ต้องหมดเงินเท่าไร พ่อแม่แทบกระอัก เจอสารพัดปัญหา

Date Time: 11 ม.ค. 2563 09:10 น.

Video

Motorola รอดได้ไงในยุคสมาร์ทโฟน ? ถูกแบ่ง ถูกปล้น ถูกขาย แต่ไม่หายไปไหน | Digital Frontiers EP.38

Summary

  • จริงหรือเพื่อความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ แต่งงานแล้วต้องมีลูก เลี้ยงดูให้การศึกษาลูกเป็นอย่างดี ซึ่งความเพียบพร้อมของแต่ละครอบครัวอาจแตกต่างกันในการดูแลลูกตามสถานภาพฐานะ

Latest


จริงหรือเพื่อความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ แต่งงานแล้วต้องมีลูก เลี้ยงดูให้การศึกษาลูกเป็นอย่างดี ซึ่งความเพียบพร้อมของแต่ละครอบครัวอาจแตกต่างกันในการดูแลลูกตามสถานภาพฐานะ โดยทุกครอบครัวคาดหวังให้ลูกเป็นคนดี มีอาชีพการงานดีในอนาคต เผื่อภายภาคหน้าจะได้เลี้ยงดูพ่อแม่ได้ แต่กว่าลูกจะเติบโต เรียนจบมีงานทำ พ่อและแม่ต้องหมดเงินค่าใช้จ่ายไปเท่าไร ยิ่งในยุคนี้การเลี้ยงลูก 1 คน มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เสมือนเป็นหนึ่งในการลงทุน

ทั้งพ่อและแม่ต้องบริหารการเงินเป็นอย่างดี เพราะค่าใช้จ่ายเริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์ในการฝากท้องกับคุณหมอ ผู้เป็นแม่ต้องรับประทานอาหารยาบำรุงวิตามินอย่างดี เพื่อให้ลูกน้อยในท้องสมบูรณ์แข็งแรงมากที่สุด กระทั่งลูกเกิดมาดูโลก ต้องมีค่าใช้จ่ายหลักๆ เฉลี่ยประมาณ 5,000-10,000 บาทต่อเดือน ทั้งค่าวัคซีน ค่านมผง ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกมากมาย หรือกรณีพาลูกไปหาหมอ ยังไม่รวมค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งปัจจุบันแพงมาก และเมื่อลูกอายุถึงเกณฑ์เข้าเรียน ต้องวางแผนให้ดีสำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียนของลูก ตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนจบปริญญา หากเป็นโรงเรียนเอกชนค่าเทอมจะแพงกว่าโรงเรียนรัฐบาล

ขณะที่ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสำหรับเด็กวัยเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับปริญญาตรี หากเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐบาล จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.6 ล้านบาท หากเลือกศึกษาในสถาบันการศึกษาของเอกชนค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาท และหากเป็นสถาบันการศึกษานานาชาติ จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 20.1 ล้านบาทตลอดระยะเวลาเล่าเรียน

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า "การมีลูก 1 คน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเท่าไร?" และเหตุผลใดหลายๆ ครอบครัวในยุคปัจจุบัน จึงไม่ต้องการมีลูก “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ 2 นักวิชาการ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

เริ่มจาก "ผศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์" กลุ่มสาขาวิชาพฤติวิทยาเชิงประชากรและสังคม โดยคำนวณต้นทุนการเลี้ยงดูลูก อายุตั้งแต่ 0-14 ปี จากภาพรวมประชากรทั้งประเทศ และการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทย ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นค่าใช้จ่ายต่อเด็ก 1 คน อยู่ประมาณ 1.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายหลักๆ คิดเฉลี่ยจากภาพรวมรายได้ของแต่ละครอบครัวทั้งประเทศ โดยภาระค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งทางครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนที่เหลือภาครัฐหรือรัฐบาลให้การอุดหนุน ในลักษณะการจัดบริการสาธารณะ หรือประมาณฝ่ายละ 8 แสนบาท

จากข้อมูลของสภาพัฒน์และรายได้ประชาชาติ พบว่า 1 ใน 3 เป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา หรือปีละ 5 แสนบาทต่อคน ส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ 7% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาถือเป็นตัวเลขที่สูง สร้างความกังวลให้กับคนเป็นพ่อแม่ในการแบกภาระเลี้ยงดูลูก 1 คน แม้ว่าภาครัฐได้ให้การอุดหนุนช่วยเหลือด้านการศึกษาเป็นส่วนใหญ่จากนโยบายให้เรียนฟรีแล้วก็ตาม

ขณะที่แยกตามระดับฐานะของแต่ละครอบครัว โดยพ่อแม่กลุ่มครัวเรือนร่ำรวยมีรายได้สูงที่สุด มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก 3 ล้านบาท หรือมีรายจ่าย 2 ใน 3 ที่พ่อและแม่ต้องจ่ายเองนอกเหนือจากการอุดหนุนของภาครัฐ ซึ่งแตกต่างกับพ่อแม่กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุดค่อนข้างมาก หรือต่างกัน 2 เท่า ในการเลี้ยงดูลูกในครอบครัว หากประเมินค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่ร่ำรวยต้องแบกรับภาระประมาณ 7 เท่า ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายการศึกษาและสุขภาพ หากเทียบกับครอบครัวยากจน

“สะท้อนให้เห็นความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย เพราะค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกในกลุ่มพ่อแม่ร่ำรวยเปรียบเหมือนการลงทุน เป็นการปูทางทำให้ลูกได้ทำงานดีๆ โดยพ่อแม่กลุ่มนี้มีมูลค่าใช้จ่ายมากถึง 35 เท่า หากเทียบกับครอบครัวที่จนสุด ใช้จ่ายไม่ถึง 1 หมื่นบาท และที่เหลือภาครัฐจ่ายให้ เป็นสิ่งที่ครัวเรือนยากจนไม่มีกำลังจ่ายต้องตัดสินใจหนักในการจ่ายค่าเทอมให้ลูก สุดท้ายต้องกู้ กยศ. ดังนั้นภาครัฐควรเข้ามาจัดการสวัสดิการให้ดีขึ้น สร้างมาตรฐานการศึกษาไม่ให้แตกต่างกัน เพื่อให้เด็กทุกคนได้โอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ”

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา ระบุว่า การเลี้ยงดูลูกของคนสมัยนี้ต้องมีค่าใช้จ่าย เหมือนเป็นต้นทุนโดยตรงจากการมีลูก ขณะที่ก่อนการมีลูกพบว่าหลายคนมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมอยู่แล้วจากไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนในการไปเที่ยวหรือกินข้าวนอกบ้าน แต่เมื่อมีลูกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นต้นทุนอันหนึ่งของคนในยุคปัจจุบัน ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเมื่อแต่งงานแล้วมีลูก อาจตรงกันข้ามกับหลายครอบครัวที่ไม่ยอมมีลูก เพราะยังต้องการมีอิสระตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

นอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีลูก เพราะหลังจากมีลูกได้ส่งผลกระทบต่องาน โดยคนใดคนหนึ่งต้องออกจากงาน เพราะการจะจ้างคนมาเลี้ยงลูกมีราคาแพง จึงต้องลาออกมาเลี้ยงลูก หรืออาจเปลี่ยนสายงาน มาทำงานใกล้บ้านมากขึ้นเพื่อให้สามารถเลี้ยงลูกได้มากขึ้น หรือบางคนไม่เปลี่ยนสายงาน แต่ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง แสดงให้เห็นว่าการมีลูกส่งผลกระทบต่องาน มองว่าเป็นต้นทุนต่อครอบครัวและต่อประเทศ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีความต้องการแรงงานมีคุณภาพอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเลี้ยงลูกให้ดีมีคุณภาพเช่นกัน

“อีกหนึ่งปัญหา ถ้ามีคนหนึ่งคนใดในครอบครัวออกจากงานมาเลี้ยงลูก ก็กลายว่าตัวเองมีความสำคัญลดลง ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง บางคนถูกสามีแสดงพฤติกรรมไม่เกรงอกเกรงใจ ไปมีหญิงอื่นบ้าง หรือบางคนตั้งใจออกจากงานแค่ 3 ปี แต่ท้ายสุดไม่สามารถกลับเข้าตลาดแรงงานได้ กลายเป็นคนตกงาน และเมื่อสูงอายุต้องพึ่งลูก เพราะออกจากงานมาเลี้ยงลูกจึงไม่มีเงินเก็บ จนรู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าในตัวเอง จากการทุ่มเทเสียสละลาออกมาเลี้ยงลูก ถือเป็นผลกระทบหลายมิติ เพราะการเลี้ยงลูก 1 คน ถือเป็นต้นทุนหลักของครอบครัว ในการใช้เงินจ่าย”

เพราะฉะนั้นแล้วในยุคปัจจุบันการมีลูก หรือไม่มีลูก ถือเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ หากจะเลี้ยงดูลูกต้องเลี้ยงให้ดีที่สุด เป็นหน้าเป็นตาให้กับพ่อแม่ และทำอย่างไรให้ลูกเป็นคนดี แม้ว่าปัจจุบันอัตราการเจริญพันธุ์ หรือจำนวนบุตร เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 คน ซึ่งลดจากในอดีตเป็นอย่างมาก หากเทียบกับปี 2513 มีอัตราการเจริญพันธุ์เท่ากับ 6 คน แต่เมื่อครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งมีลูก 1 คน จะต้องใช้จ่ายเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด ดังนั้นภาครัฐนอกเหนือจากการให้เงินอุดหนุนส่งเสริมให้คนไทยมีลูกแล้ว ควรมีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตทำอย่างไรให้คนอยากมีลูก ลดภาระค่าใช้จ่ายให้น้อยลงจากเดิม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ