The Issue : รวยแบบ “ธนินท์ เจียรวนนท์”

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

The Issue : รวยแบบ “ธนินท์ เจียรวนนท์”

Date Time: 7 ม.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • ปีที่แล้ว “ธนินท์ เจียรวนนท์” อัครมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของเมืองไทย ได้เปิดตัวหนังสือเล่มแรกที่บอกเล่าเส้นทาง วิธีคิด การสร้างธุรกิจ

Latest

เอไอเอสเทียบจะจะ! ดูบอลพรีเมียร์ลีกถูกลง


ปีที่แล้ว “ธนินท์ เจียรวนนท์” อัครมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของเมืองไทย ได้เปิดตัวหนังสือเล่มแรกที่บอกเล่าเส้นทาง วิธีคิด การสร้างธุรกิจ โดยตัวเขาเป็นคนเล่าเรื่องเองทั้งหมด ใช้ชื่อว่า “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว”

หนังสือเล่มดังกล่าว พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย.2562 มี คริสมาส ศุภทนต์ เป็นบรรณาธิการ และ สุธาสินี เตชะรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้เรียบเรียง บอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตของเจ้าสัวธนินท์ โดยมีจุดสนใจอยู่ที่การเปิดเผย แบ่งปันประสบการณ์ทางธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาหลายเรื่อง ทั้งการฝ่าวิกฤติ ความผิดพลาด มุมมองที่เติบโตขึ้นในทุกช่วงวัยของเขา และที่สำคัญที่สุดวิธีบริหาร “คน”

ธนินท์ ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 81 ปีในเดือน เม.ย.ที่จะถึง เกิดที่ย่านทรงวาด กรุงเทพมหานคร จบมัธยมจากฮ่องกงแล้วตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ออสเตรเลีย แต่เลือกกลับเมืองไทยเพื่อเริ่มต้นชีวิตวัยทำงานตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยเข้าไปช่วยกิจการที่พี่ชายทั้ง 2 (จรัญและมนตรี เจียรวนนท์)ร่วมกันก่อตั้งคือ “ร้านเจริญโภคภัณฑ์”

เขาเล่าว่าเคยถูกนักข่าวอเมริกันยิงคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นลูกชายคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องผู้ชาย 4 คน แต่ทำไมถึงได้เป็นประธานกรรมการของซี.พี. เป็นลูกรักอย่างนั้นหรือ

ธนินท์อธิบายเรื่องนี้ว่า ทั้งหมดอยู่ที่ความสามัคคี เขาเข้าไปช่วยงานร้านเจริญโภคภัณฑ์ เริ่มต้นที่ตำแหน่งเสมียนหรือ “พะจั๊บ” เป็นพนักงานที่ทำทุกอย่าง ไต่เต้าขึ้นเรื่อยๆ โดยพี่ชายทั้ง 2 ให้โอกาสแสดงฝีมืออย่างเต็มที่

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อจรัญ เจียรวนนท์ พี่ชายคนโตมองการณ์ไกล ส่งธนินท์ไปดูงานที่สหรัฐฯ ซึ่งสมัยนั้นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทำให้ได้พบกับอาร์เบอร์ เอเคอร์ส พันธมิตรสำคัญที่เข้ามาช่วยซี.พี.พลิกโฉมการเลี้ยงไก่ในประเทศ ไทย ทำให้ไก่เป็นโปรตีนที่มีราคาถูก-เอื้อมถึง จากที่ก่อนหน้านี้ราคาแพงกว่าหมูมาก ในที่สุดธนินท์จึงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เมื่อปี 2532

เขาบอกว่า โชคดีที่พี่น้องทั้งหมดยึดมั่นในความสามัคคีและเข้าใจกัน ตามที่บิดาเคยสอนไว้ว่า “ต้องรู้จักรักและสามัคคีในหมู่พี่น้อง ความสามัคคีจะทำให้ดินกลายเป็นทองได้”

ช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ต้องเรียกประชุมพี่น้อง “ผมขอให้พี่น้องไม่ต้องกลุ้มใจ ขอให้เชื่อมั่นและรับรองว่าจะไม่ขายธุรกิจที่พี่ชายสร้างมา ถ้าต้องขาย จะขายธุรกิจที่ผมริเริ่มใหม่ ต้องขอบคุณที่พี่น้องไว้ใจและให้อำนาจตัดสินใจเต็มที่ จึงลุยแก้วิกฤติไปได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความระแวงกัน”

อย่างไรก็ตาม เพื่อความราบรื่นบ้านเจียรวนนท์วาง “กฎเหล็ก” ไว้ 4 ข้อเพื่อรักษาความปรองดองเอาไว้ ได้แก่ 1.ลูกชายที่แต่งงานแล้วต้องออกจากบ้าน 2.ห้ามไม่ให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นภรรยา สะใภ้ บุตรสาว เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว 3.รู้จักให้อภัยพี่น้อง ยิ่งตอนนี้ซี.พี.มีมืออาชีพเข้ามาทำงานด้วยมาก แน่นอนต้องกระทบสถานะคนในครอบครัว ถ้าไม่อภัยกัน เอาแต่ต่อต้าน บ้านจะแตก 4.ไม่เห็นแก่ตัว อดทน เสียสละเพื่อพี่น้อง

เขาเล่าว่า แม้มีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่เมื่อไม่เข้าใจก็คุยกัน จึงไม่ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ “ผมไม่เคยคิดว่าผมทำมาก 100 ผมควรได้ 70 และให้พี่น้องคนละ 10 แต่คิดว่าต้องทำให้ได้สัก 400 และได้แบ่งคนละ 100 ซึ่งผมก็ได้มากกว่า 70 แล้ว แทนที่จะเบียดเบียนพี่น้อง เราแค่ขยันมากขึ้น ทำงานหนักขึ้นดีกว่า”

ธนินท์พูดถึงวิกฤติปี 2540 ว่า ช่วงก่อนวิกฤติ ซี.พี.กู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เมื่อค่าเงินจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขยับขึ้นเป็น 50 บาท หนี้สินจึงพุ่งขึ้นเท่าตัว เขาต้องตัดใจขายกิจการที่เริ่มต้นขึ้น ทั้งห้างโลตัส สยามแมคโคร (ซื้อแมคโครกลับเมื่อปี 2556) และ 7-11 บางส่วน (ยอมขายหุ้นสัดส่วน 24%) โดยเก็บธุรกิจอาหารสัตว์และเกษตร ที่พี่ชาย 2 คนสร้างมาเอาไว้

เขาเล่าว่า ยังนึกเสียดายที่ไม่เลือกขายเทเลคอมเอเซีย (ทรู -- ในปัจจุบัน) เพราะตอนนั้นราคาหุ้นอยู่ที่ 80 บาท เพราะยังมีความหวังว่าเทคโนโลยีไฟเบอร์ออปติกใต้ทะเลที่ลงทุนไป จะทำให้เติบโตในอนาคต แต่ที่สุดเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เคเบิลใต้น้ำไม่มีค่าอีกต่อไป หุ้นทรูจึงราคาดิ่งลงต่ำสุดเหลือแค่ 2 บาท

ส่วนทีเด็ดที่ทำให้ซี.พี.พลิกตัวจากวิกฤติและเติบโตได้อีกครั้งนั้น ธนินท์บอกว่า อยู่ที่การขยายธุรกิจท่ามกลางวิกฤติ เพื่อให้กำลังใจพนักงานและเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ ซึ่งถ้าตอนนั้นไม่ขยาย ซี.พี.จะไม่ใหญ่ขึ้น และไม่สามารถรักษาคนเก่งๆ ไว้ได้ เพราะเป็นบริษัทที่หมดอนาคต

ความเฉียบคมอีกครั้งของธนินท์ คือการตัดสินใจนำร้านสะดวกซื้อ 7-11 เข้าสู่ประเทศไทย ธนินท์เล่าว่ามองเห็นพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่มีวิธีทำงานต่างออกไป เมื่อก่อนเจ้าของร้านโชห่วยต้องเฝ้าร้านทุกวัน 24 ชั่วโมง แต่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำงานโดยไม่มีวันหยุดเหมือนคนรุ่นก่อน เขาจึงมองหารูปแบบธุรกิจ ที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ

ตอนนั้น Southland Corporation แห่งสหรัฐอเมริกา เจ้าของ 7-11 ฟันธงว่าเมืองไทยยังไม่พร้อมเพราะรายได้ประชากรต่ำไป แต่ธนินท์คิดต่าง เขามองว่าคนมีเงินน้อยแต่ถ้าทำเลดี คนเข้าร้านเยอะ ก็อาจทำยอดขายได้มาก แถมต้นทุนต่ำกว่าเพราะที่ดิน แรงงานถูกกว่าสหรัฐอเมริกา

ในที่สุด 7-11 ก็เปิดสาขาแรกในไทยที่ถนนพัฒน์พงศ์เมื่อปี 2531 อย่างไรก็ตามในช่วงแรกธุรกิจล้มลุกคลุกคลาน ร้าน 7-11 จำนวน 27 สาขาแรกขาดทุนทุกสาขา ปัญหาเกิดจากคน ทั้งพนักงานลาออกและของหาย จนต้องปรับโครงสร้างด้าน “คน” ให้โอกาสพนักงานที่บางส่วนเป็นเด็กด้อยโอกาสให้สามารถเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย จนแก้ปัญหาสำเร็จ เพราะพนักงานช่วยกันดูแล

ธนินท์ ยังแบ่งปันหลักดูแลสุขภาพ 8-8-8-8 (สี่แปด)ของเขา ว่าด้วยการกิน 80% ไม่ให้อิ่มเกิน นอน 8 ชั่วโมง เดิน 8,000 ก้าว และดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว เพื่อดูแลร่างกายและจิตใจ ให้มีแรงทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ