นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า หลังจากสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามาให้การส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดน่านตั้งแต่ปี 2552 ถึงขณะนี้เวลา 10 ปีแล้วประชาชนในพื้นที่เริ่มพัฒนาได้ด้วยตนเอง โดยพบว่าระดับรายได้ของคนในพื้นที่ได้ปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบข้อมูลที่น่ากังวลว่า แม้รายได้เพิ่มขึ้นแต่การออมรวมถึงปัญหาหนี้สินกลับไม่ได้ดีขึ้น ทำให้สถาบันจะเริ่มปรับบทบาทการทำงานมาส่งเสริมในด้านการแก้ไขปัญหา หนี้สินของคนในพื้นที่มากขึ้น โดยให้สามารถแก้ไขหนี้สินได้ด้วยตัวเอง
นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า ทุกพื้นที่มีปัญหาหนี้สิน โดยหลักๆคือหนี้ที่มาจากการศึกษาเพราะผู้ปกครองมีค่านิยมจะต้องส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และมีหนี้ที่มาจากค่าสุรา ค่าหวย ขณะเดียวกัน เมื่อมีรายได้ สูงขึ้นในช่วงราคาพืชผลเกษตรดี ก็ยังไม่ปรากฏว่าการออมดีขึ้น หรือหนี้สินลดลง เพราะส่วนใหญ่เมื่อมีเงินก็นำไปใช้จ่าย เช่น ซื้อรถไถเดินตาม รถจักรยานยนต์ รถยนต์ สร้างวงจรหนี้ใหม่ ซึ่งกรณีของจังหวัดน่านเอง หนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 200,000 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้การเกษตร 60,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งการแก้ปัญหาไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน โดยเฉพาะการให้ความรู้ด้านการเงินแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะคนในชนบทที่ยังมีความรู้จำกัด
นายชนินทร์ เพชรไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนคือ พบว่าขณะนี้คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น โดยเฉพาะคนเจนวายที่เพิ่งเริ่มทำงาน โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค ขณะที่คนสูงอายุวัยเกษียณแล้ว แต่ก็ยังมีหนี้ในระดับสูง เป็นปัญหาว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและยาวนาน จากข้อมูลยังพบว่า หากพบคนเจนวายกลุ่มอายุ 29-31 ปี เดินมาพร้อมกัน 2 คน หนึ่งในสองนั้นเป็นหนี้แน่ๆ และในจำนวนคนรุ่นใหม่ที่เป็น หนี้ 1 ใน 5 จะเป็นหนี้เสียด้วย ส่วนผู้สูงอายุตอนนี้ก็น่ากังวล เพราะข้อมูลพบว่าคนไทยอายุ 60-65 ปี ยังมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 453,000 บาท ที่น่าตกใจคือคนอายุ 70-79 ปี ยังมีหนี้สูงถึง 287,000 บาท.