3 เดือน “สอบตก-สอบผ่าน” ตรวจการบ้านส่องผลงานรัฐบาล “ประยุทธ์”

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

3 เดือน “สอบตก-สอบผ่าน” ตรวจการบ้านส่องผลงานรัฐบาล “ประยุทธ์”

Date Time: 21 ต.ค. 2562 05:01 น.

Summary

  • วันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้ รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 จะเข้ามาบริหารประเทศครบ 3 เดือนพอดี หลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปในวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา

Latest

เศรษฐกิจไทยยังลูกผีลูกคน 2 เม.ย.นี้ผวาไทยไม่รอด! ถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า

วันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้ รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 จะเข้ามาบริหารประเทศครบ 3 เดือนพอดี หลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปในวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา

ท่ามกลางภาวะ “เศรษฐกิจไทย” ที่อยู่ในภาวะชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ลดลงต่อเนื่องตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น หรือมีเงินในกระเป๋า

ขณะที่ข่าวคราวที่เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งของ “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐมนตรีต่างพรรค ต่างกระทรวง และการรื้อ โละการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า งานในหลายกระทรวงและหลายโครงการมีทิศทางที่ดี และถือเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้รวบรวม “ผลงานของกระทรวงหลักทางเศรษฐกิจ” ในช่วง 3 เดือนแรก ทั้งส่วนที่ดี และส่วนที่ล้มเหลวมาให้อ่านกัน...แต่การให้ “สอบผ่าน” หรือ “สอบตก” นั้น เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ที่อาจจะเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับนโยบายใดนโยบายหนึ่งของรัฐ ฝากให้ผู้อ่านช่วยพิจารณา

“ชิม ช้อป ใช้” ช่วยชีวิต “คลัง”

เริ่มต้นที่ “กระทรวงการคลัง” กระทรวงสำคัญเบอร์ 1 ทางด้านเศรษฐกิจ ที่มี นายอุตตม สาวนายน รับตำแหน่ง รมว.คลัง เพราะเป็นทั้งกระทรวงหาเงิน กระตุ้นการขยายตัวและดูแลเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ

โดยในช่วงแรก นโยบายที่เป็นเรือธงของนายอุตตม คือ การผลักดัน “นโยบายหาเสียง” ให้เป็นรูปธรรม โดย “การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามนโยบายของพรรค “พลังประชารัฐ” (พปชร.) ที่ได้ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง จึงเป็นนโยบายแรกๆที่ถูกหยิบยกขึ้นมาดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากครบ 3 เดือน คณะทำงานปรับโครงสร้างภาษี มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ ยังไม่เห็นความคืบหน้าใดๆ ล่าสุด มีข่าวออกมาในทำนองที่ว่า “กรมสรรพากร” กำลังพิจารณาปรับค่าลดหย่อนภาษีบางประเภท เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้ปานกลาง ลดสิทธิประโยชน์คนรายได้สูง ส่วนการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% นั้น น่าจะไม่เกิดขึ้นแล้วทำให้นโยบายส่วนนี้กระทรวงการคลังยังสอบไม่ผ่าน

ขณะที่อีกนโยบายสำคัญที่กระทรวงการคลังได้รับมอบหมาย คือ การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย โครงการต่อยอดช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 14.6 ล้านคน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ด้วยการเพิ่มเงินให้กับผู้ถือบัตรคนจนคนละ 500 บาทต่อเดือน เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ถือบัตรเป็นเดือนละ 500 บาท และผู้ถือบัตรที่มีบุตรตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ได้รับเดือนละ 300 บาท ระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย.62

ขณะเดียวกัน ยังได้ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.62 เป็นสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.63 แทน ขยายเวลาคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% ออกไปอีก 1 ปี ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 62 วงเงิน 25,000 ล้านบาท โดยมาตรการชุดนี้ ยังคงมุ่งไปสู่ผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งยังไม่ทำให้ “คนทุกชนชั้น” ในสังคมเกิดความมั่นใจและเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” วงเงิน 19,000 ล้านบาท ที่แจกเงินให้ผู้โชคดีที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ทันจำนวน 10 ล้านคน คนละ 1,000 บาท รวมทั้งยังใจดีคืนเงิน (cash back) ให้อีก 15% ของยอดใช้จ่ายแต่ไม่เกิน 4,500 บาท วงเงินรวม 30,000 บาท โดยให้สิทธิ์กับทุกชนชั้นตั้งแต่อายุ 18-80 ปี กลายเป็น โครงการที่เข้ามา “ช่วยชีวิต” กระทรวงการคลังไว้ได้ในช่วง 3 เดือนแรกของการทำงาน

สร้างกระแส “Talk of the Town” ไปทั่วประเทศ จนกลายเป็นคำถามแรกที่เจอหน้ากันว่าคุณ “ลงทะเบียนชิม ช้อป ใช้ แล้วหรือยัง” หรือ “ลงทะเบียนได้หรือเปล่า” แถมยังเกิดกระแสในโลกโซเชียลแนะนำถึงวิธีการลงทะเบียน เคล็ดลับการสแกนใบหน้าให้ผ่าน และอื่นๆอีกมากมาย โดย 19 วัน มีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 8,000 ล้านบาท คาดว่าผลจากมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีให้เติบโตขึ้นได้อีก 0.2-0.3%

คมนาคมงานไม่ง่าย ขอ “คะแนนตั้งใจ 100%”

หันมาส่องผลงานของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ซึ่งถือว่า “ออกตัวแบบไม่ธรรมดา” เรียกเสียงฮือฮาตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ขายไอเดียล้นเหลือ ครองพื้นที่สื่อทั้งหน้า 1 หน้าในต่อเนื่องทุกวัน

เช่นเดียวกัน นโยบายแรกที่นายศักดิ์สยาม “ดันสุดลิ่ม” คือ นโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย คือ การนำรถส่วนบุคคลมาให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ผ่านแอปพลิเคชัน “แกร็บ” ซึ่งล่าสุด กรมการขนส่งทางบก อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆเพื่อให้ประกาศใช้ได้ไม่เกินเดือน มี.ค.63

นอกจากนั้น ได้เร่ง แก้ไขปัญหาการสร้างถนนพระราม 2-ถนนกัลปพฤกษ์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม ถนนเจ็ดชั่วโคตร ก่อสร้างมายาวนานแต่ยังไม่เสร็จ โดย “นายศักดิ์สยาม” กล่าวในการตรวจงานการก่อสร้าง และแก้ปัญหาจราจรครั้งที่ 2 ว่า จะไม่กลับมาตรวจงานอีกเป็นครั้งที่ 3 และให้เวลากรมทางหลวงอีก 1 เดือน หากทำไม่ได้จะทบทวนโครงการยกระดับพระราม 2 ทำให้มีความคืบหน้า และมีความชัดเจนในวันเวลาที่จะก่อสร้างสำเร็จ

ขณะเดียวกัน ยังมีไอเดีย เพิ่มการบังคับในถนนทางหลวงให้ใช้ความเร็วได้ 120 กม.ต่อ ชม. กำหนดเบื้องต้นในเส้นทางสายหลัก และถนนมอเตอร์เวย์บางช่วงบางตอน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ไปแล้ว

ขณะที่นโยบายที่เห็นผลแล้ว คือ นโยบายการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ด้วยการทดสอบสมรรถภาพผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทและทุกคัน ตรวจสภาพรถโดยสาร กำหนดตั้งจุด Checking Point ทุกๆระยะทาง 90 กม.ทั่วประเทศ โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการวันที่ 16 ก.ย.62 สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะต่อวัน ลดลงเหลือเฉลี่ยที่ 0.4-0.5% จากช่วงวันที่ 1 ม.ค.-31 ส.ค.62 มีอัตราเฉลี่ยต่อวัน 1.07%

ส่วน การลดค่าครองชีพประชาชน ได้ออก นโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า แต่ผลออกมาอาจจะยังไม่ใช่การลดในภาพรวมแบบที่คนส่วนใหญ่คิดไว้ อย่างไรก็ตาม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สรุปว่า หากซื้อแพ็กเกจตั๋วเที่ยวแบบ 15-20-40-50 เที่ยวขึ้นไป ราคาจะลดลงกว่า 33% ส่วนช่วงออฟพีกจะลดราคาเหลือเพียง 14-17-20 บาทตลอดสาย โดยมีเวลาให้ใช้ยาวถึง 6 เดือน

ขณะเดียวกัน ยังได้เดินหน้าผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มูลค่ากว่า 220,000 ล้านบาท โดยได้เร่งรัดให้ลงนามสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกลุ่มซีพี ผู้ชนะการประมูลให้ได้ในวันที่ 25 ต.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า “ตั้งใจทำงานเต็ม 100% กับนโยบายเริ่มไว้ตั้งแต่เข้ามาเดือนแรก แต่ยอมรับว่า หลายนโยบายหากจะให้เห็นผลต้องให้เวลา และการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่หมดไปกับงานคั่งค้างเก่าๆ หากจะให้ประเมินตัวเอง คิดว่า งานที่ทำเป็นระดับนโยบาย จะมาประเมินง่ายๆ เหมือนเปิดร้านขายบะหมี่คงไม่ได้”

พาณิชย์ ชู “นโยบายประกันราคา”

อีกไฮไลต์ของรัฐบาลชุดนี้ ที่ทุกคนจับตามอง หนีไม่พ้น “นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร” ที่จะนำมาทดแทนนโยบายรับจำนำ ซึ่งเป็น “ตำนาน” โดยเฉพาะเมื่อ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาบัญชาการเองในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เพื่อผลักดันนโยบายหลักที่พรรคได้หาเสียง และคน ปชป.ภูมิใจนักหนาว่าเป็นนโยบายที่ได้ผลสำเร็จมาแล้ว

โดยหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และรัฐบาลประกาศประกันราคา เพียง 77 วัน เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน เป็นพืชแรกที่ได้รับเงินส่วนต่างรายได้จากโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทันทีครัวเรือนละ 11,987.25 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.62 ที่ผ่านมา 263,000 ครัวเรือน ทั้งหมด 8 งวด วงเงินรวม 14,000 ล้านบาท

ถัดมาอีกเพียง 15 วัน หรือครบ 90 วัน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวก็ได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้ โอนเข้าบัญชีให้ทันที โดยผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้า ได้รับเงินส่วนต่างตันละ 2,469.64 บาท และผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ได้ตันละ 783.45 บาท โดยรัฐบาลตั้งงบประกันรายได้ข้าวทั้งสิ้น 21,000 ล้านบาท และในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ผู้ปลูกยางพาราก็จะได้รับเงินส่วนต่างเช่นกัน โดยรัฐตั้งงบไว้กว่า 24,000 ล้านบาท

ขณะที่พืชอีก 2 ชนิดที่รัฐบาลกำหนดทำโครงการประกันรายได้ คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะเริ่มจ่ายส่วนต่างได้ในเร็วๆนี้ ส่วนพืชอื่นๆจะมีมาตรการอื่นช่วยเหลือ

ส่วนการแก้ปัญหาการส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็งค่า และราคาน้ำมันผันผวน จนทำให้มูลค่าส่งออกไทยลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น

ตัวเลขการส่งออกล่าสุด ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.62 ยังคงติดลบ 2.5% “นายจุรินทร์” ได้สั่งตั้ง “คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์” เพื่อเป็นเวทีการแก้ปัญหาส่งออก ลดอุปสรรค อำนวยความสะดวกให้เอกชนค้าขายได้คล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งผลักดันการค้าชายแดน โดยหวังให้มูลค่าส่งออกไทยปีนี้โตได้ตามเป้าหมายที่ 3%

ขณะที่ยังเป็นต้นคิด “รื้อฟื้น” การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป (อียู) ที่ถูกแขวนไปหลายปีหลังไทยมีการปฏิวัติในช่วงที่ผ่านมา แต่ล่าสุด หลังอียูไฟเขียวเจรจา ไทยก็พร้อมเดินหน้าเจรจาเช่นกัน

ส่วนการประเมินผลงานตัวเองว่า “ผ่านหรือไม่” “นายจุรินทร์” บอกว่า ถ้าจะให้ประเมินผลงานตนเอง คงไม่ได้ ไม่มีใครเค้าทำกัน จึงอยากจะให้ประชาชนคนไทย และพี่น้องเกษตรกรเป็นผู้ประเมินจะดีกว่า

หวัง “ร้อยเดียว เที่ยวทั่วไทย” บูมท่องเที่ยว

ขยับมาดูผลงาน “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” กันต่อแม้ธุรกิจปั๊มน้ำมันพีที ของ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและ กีฬา” จะรุ่งโรจน์ตามกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ถือว่าเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อต้องมาจับงานภาครัฐครั้งแรก ช่วงแรกของการเสนอโครงการมักจะแป้ก ไม่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

“รมว.พิพัฒน์” เฉลยเรื่องนี้ว่า “ผมไม่ค่อยรู้ขั้นตอนเท่าไหร่ เสนอเรื่องอะไรเข้า ครม. มักผิดขั้นตอน และถูกดึงเรื่องออกทุกที”

แต่เมื่อหาหนทางได้ก็สามารถทำให้ ครม.คลอดนโยบายที่ช่วยต่อยอดเสริมโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ออกมาได้สำเร็จในที่สุด คือ โครงการ “ถึงเวลาทัวร์ ให้ทั่วไทย” ที่ดูแล้วน่าจะฮือฮาตาม “ชิม ช้อป ใช้” ได้ไม่ยาก

เพราะภายใต้โครงการนี้ จะมีการออกแพ็กเกจท่องเที่ยวราคาถูก คือ “ร้อยเดียว เที่ยวทั่วไทย” จ่าย 100 บาท แต่ได้ตั๋วเครื่องบิน ได้พักโรงแรมหรู หรือใช้บริการร้านอาหาร สปา ระดับไฮเอนด์ โดยให้สิทธิ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทั้งสิ้น 40,000 รายการ ใน 2 ช่วง คือ ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย.นี้ และระหว่างวันที่ 11-12 ธ.ค.นี้ ลงทะเบียนก่อนได้ก่อน บนเงื่อนไข ต้องเที่ยวก่อนวันที่ 31 ธ.ค.นี้

จับตาเป้าหมายนโยบายกระทรวงเศรษฐกิจ

อีกโครงการคือ “เที่ยววันธรรมดา ราคาช็อกโลก” ที่นำเอาบรรดาสินค้าไฮเอนด์ หรูหรา ราคาแพง ออกมาลดราคาสูงสุดถึง 70% ให้ คนธรรมดามีโอกาสได้เอื้อมถึง ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องเที่ยวในวันธรรมดาและภายในสิ้นปีนี้เท่านั้น แถมท้ายด้วย 18 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มีทั้งมาตรการตั้งแต่ 3 เดือน จนถึง 1 ปี ที่จะทยอย ออกมา ทั้งมาตรการด้านการเงิน การคลังและกฎหมาย การช่วยอำนวย ความสะดวกให้นักท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นตลาดและค่าใช้จ่ายในประเทศ

“แบน 3 สาร” บังมิดผลงานกระทรวงเกษตรฯ

สำหรับผลงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนี้แทบจะไม่มีใครพูดถึง เพราะทุกสายตาให้ความสนใจไปที่ การยกเลิก หรือแบนการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ซึ่งเป็นนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ที่ส่งตรง มายัง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช. เกษตรฯ ที่มาจากพรรคเดียวกัน

โดยมีกระแสสังคมกดดันให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ต้องรับลูกแบกเรื่องนี้ตามกระแสที่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่กลุ่มเกษตรกรที่ทำพืชอุตสาหกรรม ได้แก่ ปาล์ม น้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพด ออกมา คัดค้านเพราะมีความจำเป็นต้องใช้อยู่ โดยเฉพาะพาราควอต เป็นยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรมองว่าได้ผลดีกว่าการใช้สารเคมีตัวอื่น อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่า และหากมีการยกเลิกการให้ใช้พาราควอตจริง 3 พืชอุตสาหกรรมหลักล้มทั้งกระดานแน่นอน

โดยเกษตรกรขอตั้งคำถามตามด้วยว่า “คนในรัฐบาลที่ต้องการให้ยกเลิกการใช้สารนี้ ก็ตั้งใจให้ใช้สารเคมีอื่นแทน ท่านได้ติดต่อกับนายทุนรายใหม่ไว้แล้วใช่หรือไม่”

และแม้จะเต็มไปด้วย “ดราม่า” มากมาย คำตัดสินสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน วันที่ 22 ต.ค.นี้

ขณะที่ผลงานของกระทรวงเกษตรฯ อื่นๆ ที่มีรัฐมนตรีร่วมกันบริหาร 4 คน จาก 4 พรรคการเมือง คือ การอนุมัติ มาตรการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 วงเงิน 24,278.62 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.62-มี.ค.63 โดยรับประกันยาง 3 ชนิดคือ 1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) 2.น้ำยางสด 57 บาท/กก. 3.ยางก้อนถ้วย 23 บาท/กก. สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป สูงสุดรายละไม่เกิน 25 ไร่ ถือเป็นผลงานเดียวของกระทรวงเกษตรฯเวลานี้

แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่รู้โครงการนี้จะเข้าทำนอง “ลูกผีลูกคน” หรือไม่ เพราะเป็นการประกันรายได้ชาวสวนยางครั้งแรกในประวัติศาสตร์และเริ่มมีการเคลื่อนไหวจากบรรดาพ่อค้า ที่รู้ว่ารัฐบาลออกมาตรการนี้ด้วยการกดราคายางพาราในตลาดวูบต่ำลงแล้ว และทำให้ในที่สุด รัฐบาลอาจต้องจ่ายเงินมากกว่าที่ขอไว้ และกลายเป็นงบประมาณที่รัฐบาลต้องตั้งวงเงินให้ไม่สิ้นสุด หากภาครัฐไม่สามารถดันราคา ยางพาราขึ้นสูงกว่าราคาประกันรายได้

กระจายความมั่งคั่ง เน้น “พลังงานทดแทน”

ข้ามฝั่งมาที่กระทรวงพลังงาน หลังจากที่ “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” นั่งตำแหน่ง รมว.พลังงาน ทำให้คาดหวังความเป็นแดนสนธยาและแหล่งขุมทรัพย์ที่กลุ่มอิทธิพลมักจะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์น่าจะหมดไป หลังจากชูนโยบายพลังงานสำหรับทุกคน “Energy for All” ประกาศลั่นว่า “ต่อไป กระทรวงพลังงานจะไม่มีผลประโยชน์อีกแล้ว”

โดยผลงานที่โดดเด่นที่สุด เห็นจะเป็นการสนับสนุนพลังงานบนดิน ด้วยการนำสินค้าเกษตร ที่ไทยเพาะปลูกได้หลายชนิดมาผลิตเป็นน้ำมันให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้เกษตรกร โดยได้เดินหน้าสนับสนุนการผลิตและใช้น้ำมัน B10 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ในอัตรา 10%) คู่ขนานไปกับ B7 และ B20 เพื่อดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) แก้ปัญหาราคาผลปาล์มตกต่ำ และยกระดับราคาซีพีโอ

ขณะที่ การผลักดันและส่งเสริม “โรงไฟฟ้าชุมชน” อยู่ระหว่างจัดทำแผน เพื่อให้ชุมชนมีไฟฟ้าไว้ใช้เองในครัวเรือนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยล่าสุดมีผู้ประกอบการสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจำนวนมาก โดยตั้งเป้าให้มีการนำร่องก่อน 1 แห่ง ภายในต้นปี 63 ส่วน นโยบายอื่นๆ เช่น ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของพลังงานไฟฟ้าของอาเซียนนั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการ

แต่นโยบายสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นคือ การเขย่า “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 20 ปี” (ปี 61-80) หรือพีดีพี 2018 ที่จะไม่ได้ใช้พลังงานแบบดั้งเดิมแล้ว แต่ได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นตลอดอายุของแผน โดย “นายสนธิรัตน์” ได้สั่งการให้ปรับปรุงใหม่ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น คาดว่า จะเห็นความชัดเจนประมาณต้นปี 63

ทั้งนี้ นโยบายส่วนใหญ่ของกระทรวงพลังงาน เป็นนโยบายระยะยาว ที่ใช้เวลานานในการดำเนินการ จึงยังไม่เห็นภาพผลงานอย่างชัดเจน และไม่มีผลงานหวือหวาเหมือนเมื่อครั้งนั่งตำแหน่ง รมว.พาณิชย์

“สุริยะ” พลิกวิกฤติเป็นโอกาสลงทุน

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม โจทย์ใหญ่ที่ถือเป็นความท้าทายมากคือ ทำอย่างไรให้นักลงทุนจากทั่วโลก เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นโดยใช้ “โอกาส” ที่โลกกำลังเผชิญ “วิกฤติ” จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ให้เป็น “ปีทองแห่งการลงทุน”

เพื่อดำเนินการตามโจทย์ดังกล่าว “นายสุริยะ” จัดโปรเจกต์เดินสายโรดโชว์ ตามนโยบาย “พลิกวิกฤติสงครามการค้า เป็นโอกาสทองการลงทุนของไทย” โดยประเทศแรกที่ไปเรียกเงินลงทุน คือ ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยอย่าง “เวียดนาม” ที่กำลังบุกหนัก ประกาศดึงการลงทุนจากทั่วโลก โดยประเคนสารพัดสิทธิประโยชน์บุกถึงถ้ำเสือเพื่อเสนอสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่า

ตามด้วยโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นที่เลือกเดินทางไปดึงดูดการลงทุนในจังหวัดรอง และดึงผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ยังลงทุนในไทยไม่มากนัก ซึ่ง รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (เมติ) คนใหม่ ยืนยันว่า ญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นที่จะลงทุนในไทยต่อเนื่อง รวมถึงยังเตรียมการไปโรดโชว์ที่นครเซียงไฮ้ ประเทศจีนอีกด้วย

ผลงานที่ถือว่าเป็นรูปธรรมที่สุด คือ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด และที่สำคัญ เป็นการลงนามโครงสร้างพื้นฐานโครงการแรกของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

นอกจากนี้ยังมีผลงานที่เร่งรัดให้สำนักงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ใหม่เพิ่มอีก 244 เรื่อง เพื่อสร้างมาตรฐานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น มาตรฐานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น

ส่วนอีกผลงาน คือ สั่งให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรมเร่ง ปรับปรุงกฎระเบียบ ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล ที่มีชื่อว่า “ระบบ i-Industry” รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในยุค 4.0

“ดีอีเอส” งานค้างสะสาง “เฟกนิวส์”

“พันธกิจแรก” ของ “นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ในฐานะ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ได้ประกาศไว้ตอนเข้ารับ ตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค.62 ว่า จะเร่งดำเนินการคือ กำจัดข่าวปลอม พร้อมกับจะจัดตั้งศูนย์ป้องกันข่าวปลอม (Fake News Center) จนกลายเป็นข่าวครึกโครมอยู่หลายวัน และทำให้หลายคนคาดหวังว่า ข่าวปลอมจะลดลง

แต่จนถึงขณะนี้ ไม่ได้เป็นดังหวัง เพราะข่าวปลอมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระจายอย่างรวดเร็วตามโลกโซเชียลเหมือนไฟลามทุ่ง จนถูกปรามาสว่า “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะยังเดินหน้าต่อไป โดยวันที่ 1 พ.ย.นี้ ดีอีเอสจะเปิด “ศูนย์ป้องกันข่าวปลอม” อย่างเป็นทางการ โดย รมว.ขอเวลาอีกไม่นาน จะเห็นผลสำเร็จจากการป้องกันข่าวปลอมอย่างแน่นอน

ส่วนภารกิจอื่นๆยังไม่เห็นผลที่ประจักษ์มากนัก ไม่ว่าจะเป็นการควบรวบกิจการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การสะสางปัญหาของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่รายได้ลดลงจากคู่แข่งในตลาดมีมากขึ้น เพราะรัฐวิสาหกิจ มีระเบียบขั้นตอนตามกฎหมายจึงต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง

ขณะที่ปัญหาโครงการ “อินเตอร์เน็ตประชารัฐ” และ “เน็ตชายขอบ” เป็นอีกเรื่องหลักที่รอสะสาง เพราะเน็ตประชารัฐถูกร้องเรียนต่อเนื่องว่าใช้งานได้ไม่ดี โดยขอให้สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และทุกพรรค การเมือง ช่วยสำรวจพื้นที่ของตัวเองว่าเป็นอย่างไร

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แจ้งยกเลิกสัญญากับทีโอที กรณี “เน็ตชายขอบ” ล่าช้ามาก รวมถึงสัญญาสัมปทานดาวเทียมที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.64 รวมทั้งการดูแลความมั่นคงทางไซเบอร์ จัดการเว็บไซต์ และเพจที่โพสต์เนื้อหาไม่เหมาะสม

“เนื่องจากมีปัญหาสะสมมานานในช่วงระยะเวลา 3 เดือนแรก จึงทำได้เพียงรับทราบปัญหา และหาแนวทางแก้ปัญหาเท่านั้น ต้องขอเวลาทำงาน ซึ่งอีกไม่นานจะมีคำตอบที่ชัดเจนแน่นอน”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ