ผวานักลงทุนต่างชาติย้ายฐานผลิตหนี ก.ม.กำจัดซากอิเล็กทรอนิกส์

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ผวานักลงทุนต่างชาติย้ายฐานผลิตหนี ก.ม.กำจัดซากอิเล็กทรอนิกส์

Date Time: 22 ก.พ. 2562 07:55 น.

Summary

  • นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย

Latest

ทรู-เอไอเอสทางโล่ง! ควงแขนประมูลคลื่น

กำหนดโทษหนักถึงขั้นจำคุก

นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย เปิดเผยถึงความเห็นร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ว่าหากรัฐบาลยังยืนยันร่างฯฉบับนี้ เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยอย่างรุนแรง และอาจมีการย้ายฐานการผลิตของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ไปต่างประเทศจำนวนมาก รวมทั้งการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติที่กำลังพิจารณามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากมีหลายประเด็นไม่ชัดเจน เช่น ขอบข่ายผู้มีส่วนร่วม, การบังคับใช้, บทลงโทษทางอาญาผู้บริหารที่มีโทษหนักจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ส่งผลผู้ประกอบการมีความกังวลโดยเฉพาะผู้บริหารต่างชาติ จึงต้องการให้ทบทวนบทลงโทษในส่วนคดีอาญา “เอกชนเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้ แต่ต้องปรับปรุงให้ปฏิบัติได้จริง ซึ่งขณะนี้ต่างชาติกังวลมาก อาจมีการย้ายฐานผลิตออกไปจากประเทศไทยจะกระทบต่อการจ้างงานต่อเนื่องกว่า 750,000 คน รวมทั้งมูลค่าส่งออกและนำเข้าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมปีละ 1.2 ล้านล้านบาทจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย หากรัฐบาลไม่ทบทวนร่าง พ.ร.บ.นี้”

สำหรับสาระสำคัญที่เอกชนต้องการให้แก้ไข เช่น การบังคับใช้ที่ควรประกาศใช้เฉพาะซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่เกิดขึ้นหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ไม่ใช่เหมารวมซากที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายบังคับใช้ เนื่องจากขณะนี้มีซากผลิตภัณฑ์ในประเทศรวมกว่า 400,000 ตัน ที่ไม่สามารถหาเจ้าของผู้ผลิตเดิมได้เพราะเลิกผลิตและย้ายฐานผลิตไปแล้ว ดังนั้นก่อนใช้ พ.ร.บ.นี้ ภาครัฐควรหามาตรการ จูงใจให้ประชาชนนำซากอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วมาคืนที่ศูนย์กำจัดซากฯ ก่อน ส่วนระยะเวลาการบังคับใช้ไม่ควรน้อยกว่า 2 ปีหลังร่าง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ จากปัจจุบันกำหนดว่าต้องมีผลบังคับใช้ภายใน 365 วัน หลังกฎหมายมีผลทางปฏิบัติ ส่วนการกำหนดชนิดซากผลิตภัณฑ์ คือ คอมพิวเตอร์, เครื่องโทรศัพท์, โทรศัพท์ไร้สาย, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องรับโทรทัศน์, ตู้เย็น ซึ่งไม่มีการลงรายละเอียดว่าส่วนใดบ้าง เช่น เครื่องปรับอากาศ รัฐควรระบุพิกัดสินค้าให้ชัดเจนว่าเป็นซากของเครื่องปรับอากาศจากบ้านพักอาศัย หรือจากรถยนต์ ขณะเดียวกันขอบข่ายผู้มีส่วนร่วมดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.นี้ก็ยังไม่ครอบคลุม เช่น ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการที่ให้บริการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ เพราะขณะนี้ได้เน้นแต่ผู้ผลิตเท่านั้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ