น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยในงานเสวนา “มองโลก มองไทย : ทิศทางการส่งออกปี 2562” ว่า ในปี 62 กรมยังตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกไทยขยายตัวที่ 8% มูลค่า 272,685 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเฉลี่ยเดือนละ 22,724 ล้านเหรียญฯ แม้สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจหลายแห่งปรับลดเป้าส่งออกในปีนี้ลงจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน, ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ กรมเตรียมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เพื่อหามาตรการขับเคลื่อนการส่งออกเป็นรายตลาด
“จนถึงขณะนี้ยังยืนยันเป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่ 8% ส่วนจะทำได้หรือไม่ต้องหารือภาคเอกชนอีกครั้ง แต่จะต้องทำงานร่วมกันให้มากขึ้นเพื่อผลักดันให้ได้ตามเป้าหมาย โดยแต่ละตลาดต้องผลักดันสินค้าที่โดดเด่น มีมูลค่าเพิ่ม และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ กรมยังจะจับมือกับภาคเอกชนผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) และผู้ประกอบการชุมชนและท้องถิ่นต่างๆเพื่อส่งออก เช่นการใช้ช่องทางออนไลน์”
ขณะที่ น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องนับตั้งแต่ ช่วงปลายปี 61 จนถึงขณะนี้ เป็นสิ่งที่ภาคส่งออกมีความกังวลใจอย่างมาก และยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่องอีก โดยขณะนี้อยู่ที่ 31.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงต้องการให้หน่วยงานที่กำกับดูแลเข้ามาดูแล ไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากจนเกินไป จนทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารของไทย
“ในปี 62 สรท.มองว่าการส่งออกไทยน่าจะเติบโตได้ 5% โดยมีสมมติฐานค่าเงินบาท 33 บาทต่อเหรียญฯ แต่หากค่าเงินบาทแข็งขึ้นไปถึง 31-32 บาทต่อเหรียญฯ และสงครามการค้าไม่สามารถหาทางออกที่ดีได้ การส่งออกไทยในปี 62 คงไม่เติบโตจากปี 61 หรือขยายตัว 0% อย่างไรก็ตาม วันที่ 4 มี.ค.นี้ สรท.จะพบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือแนวทางการดูแลค่าเงินบาท โดยอยากให้ ธปท. กำกับดูแลให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้ามากนัก”.