“มอเตอร์ไซค์” กว่าหมื่นคันแห่ขอเข้าวินเดิมและเปิดวินใหม่ 97 วิน เต็มซอยทั่วกรุงเทพฯใน 50 เขต “เขตจตุจักร-เขตวัฒนา-เขตห้วยขวาง” เนื้อหอมยื่นขอเข้าวินเพิ่มมากสุด ส่วนเขตบางกะปิ-ดินแดง ยื่นจัดตั้งวินใหม่มากที่สุด ด้านผู้ประกอบการรถตู้ขอขยายอายุจากที่หมด 10 ปี ต่อไปอีก 5 ปี
นายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดำเนินนโยบายจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะ ด้วยการเปิดรับลงทะเบียนการขอจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะครั้งที่ 3 สำหรับให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ยังไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายยื่นความประสงค์ขอเพิ่มจำนวนผู้ขับขี่ในวินเดิม หรือขอจัดตั้งวินใหม่ โดยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.-31 ส.ค. ปรากฏว่า มีผู้สนใจประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้ง 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ยื่นความประสงค์ทั้งสิ้น 11,820 ราย เป็นการขอจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะในวินเดิม 10,897 ราย โดยเขตจตุจักรมีผู้มายื่นคำขอมากที่สุด 604 ราย รองลงมา ได้แก่ เขตวัฒนา มีผู้มายื่นคำขอทั้งสิ้น 553 ราย และเขตห้วยขวาง ยื่นคำขอทั้งสิ้น 551 ราย
ส่วนคำขอยื่นจัดตั้งวินใหม่ มีผู้ประสงค์ยื่นคำขอให้จัดตั้งวินใหม่เพิ่มเติมอีก 97 วิน จำนวนผู้ขับขี่ 923 ราย โดยเขตบางกะปิและดินแดงมีการยื่นขอจัดตั้งวินใหม่มากที่สุดจำนวนเขตละ 7 วิน รองลงมาเป็นเขตห้วยขวางและเขตปทุมวัน ซึ่งมีการยื่นคำขอเพิ่มเขตละ 6 วิน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและเพียงพอกับความต้องการของประชาชนในการใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะได้อย่างสะดวกทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างเพียงพอ หลังจากนี้ คณะกรรมการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะจะเร่งดำเนินการตรวจสอบสิทธิและทยอยออกหนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายให้แล้วเสร็จทุกรายภายใน 31 ต.ค.นี้ โดยผู้ยื่นคำขอที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิและได้การรับรองต้องดำเนินการจดทะเบียนเป็นป้ายเหลืองภายใน 120 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือรับรอง โดยต้องไม่เกินวันที่ 28 ก.พ.2562
นายจงรักษ์ กล่าวว่า นโยบายจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะสามารถเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้การควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยและคุณภาพบริการจากภาครัฐ ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่สามารถนำมารับส่งผู้โดยสารได้ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ ใช้เสื้อวินที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัวที่ถูกต้องตรงกัน หากพบการนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ จะมีความผิดฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท, กรณีแต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และการไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยขอความร่วมมือประชาชนเลือกใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่ได้รับความเป็นธรรมแจ้งสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า เมื่อวานนี้ (5 ก.ย.) ได้มีกลุ่มชมรมรถตู้โดยสารปรับอากาศร่วมบริการสาธารณะ หมวด 1 ที่วิ่งให้บริการเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และรถหมวด 4 ที่วิ่งให้บริการภายในจังหวัด 30 คน เข้ามายื่นเอกสารต่อกระทรวงคมนาคม 1.เพื่อให้พิจารณาขยายอายุรถจากที่หมดอายุ 10 ปี ออกไปอีก 5 ปีสำหรับรถตู้ที่จะหมดอายุสิ้นเดือน ก.ย.จำนวน 1,800 คัน 2.การเปลี่ยนรถตู้ให้เป็นรถมินิบัส ให้เป็นไปโดยความสมัครใจ และ 3.เสนอขอให้พิจารณาปรับราคาค่าโดยสารรถตู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งการยื่นหนังสือครั้งนี้ได้มีนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วย รมว.คมนาคม เป็นผู้รับหนังสือ รวมถึงมีตัวแทนจากกรมการขนส่งทางบกเข้าร่วมประชุมหารือด้วย
ขณะที่นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารได้มายื่นหนังสือเพื่อขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาขยายอายุรถตู้จากหมดอายุ 10 ปี ออกไปอีก 5 ปี และกรณีที่ภาครัฐระบุว่า หากรถตู้คันใดหมดอายุครบ 10 ปี ให้เริ่มทยอยเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสตั้งแต่ปี 2562 กลุ่มผู้ประกอบการขอให้กระทรวงคมนาคมอนุโลมให้เป็นการเปลี่ยนโดยความสมัครใจมากกว่าบังคับ เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการถตู้โดยสารต้องการให้ภาครัฐปรับค่าโดยสารรถตู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีก 5 บาท/คน/เที่ยว ซึ่งการยื่นข้อเสนอครั้งนี้กรมการขนส่งทางบกจะนำไปพิจารณาให้เสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้.