เป็นธรรมชาติของนักข่าวสายเศรษฐกิจที่จะต้องอยู่กับตัวเลขและข้อมูล ดังนั้น เอกสารประกอบการทำข่าวจึงมีความสำคัญอย่างมากที่นักข่าวจะนำมาใช้ประโยชน์ในการสกัด วิเคราะห์ เชื่อมโยงที่มาที่ไปของข่าวให้มีความแน่น ลึก ถูกต้อง เปรียบเทียบให้เห็นทิศทางและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างครบถ้วนรอบด้านมากที่สุด
เมื่อเร็วๆนี้ได้มีโอกาสไปทำข่าวการประชุม Belt and Road Summit ที่ฮ่องกง เมืองที่ถูกจัดอันดับจากสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ให้เป็นเมืองที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงสุดอันดับหนึ่ง 2 ปีซ้อนคือปี 2559 และปี 2560 ก่อนที่จะถูกสหรัฐอเมริกาแซงขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในปีนี้
ในช่วงที่ลงทะเบียน สื่อมวลชนหน้างานมีกระดาษอยู่ 1 แผ่นที่ได้รับมาพร้อมกับเอกสารของบรรดาสปอนเซอร์จัดงานทั้งหลาย กระดาษแผ่นเดียวที่นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่องานสื่อมวลชนแล้ว ยังสร้างความประทับใจได้อย่างมาก กระดาษแผ่นนี้ดูเหมือนแค็ตตาล็อกหนังสือ โดยมีคิวอาร์โค้ดติดอยู่ในแต่ละช่อง
เมื่อหยิบสมาร์ทโฟนมาสแกนคิวอาร์โค้ด เราจะได้ไฟล์ข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ซึ่งมีเป็นสิบไฟล์ อิ่มเอมกับข้อมูลที่ได้อย่างที่ไม่ต้องไปเสียเวลาค้นหาให้วุ่นวาย เหมาะสมกับการทำข่าวยุค 4.0 เป็นอย่างยิ่ง ในใจก็คิดว่านอกจากสะดวกแล้วยังไม่ต้องเปลืองกระดาษอีกเป็นร้อยๆแผ่น เป็นการจัดงานที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและหวังลึกๆว่าที่ประเทศไทยน่าจะมีแบบนี้บ้าง
ในที่สุดก็สมใจหวัง กับบริษัทของไทยอย่างเอสซีจี ที่จัดงาน SD Symposium 2018 ได้อย่างประทับใจไม่แพ้ชาติใดในโลก เป็นงานที่ใส่แนวคิดรักษ์โลกไว้ทุกซอกทุกมุม สอดคล้องกับหัวข้อเรื่องหลัก คือระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน
เป็นการจัดกิจกรรมที่เป็นสีเขียว หรือ Green Event อย่างแท้จริง ลดใช้กระดาษเอกสารในทุกขั้นตอนการจัดงาน ตั้งแต่การส่งบัตรเชิญให้กับผู้ร่วมงานผ่านทางอีเมลแทนการส่งจดหมายเชิญเป็นกระดาษ การให้ผู้ร่วมงานสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านทางสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บรายละเอียดต่างๆ ของงาน แทนการแจกเอกสารแผ่นพับ
สำหรับนักข่าวทางเอสซีจีก็ดึงเข้ากรุ๊ปไลน์แล้วส่งข่าวรวมทั้งเอกสาร ข้อมูลรายละเอียดของงานผ่านช่องทางนี้ ไม่ต้องใช้กระดาษให้สิ้นเปลือง
ส่วนบรรยากาศและภาพรวมการจัดงาน ก็เน้นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ ทั้งการผลิตเวทีและฉากหลังบนเวที รวมถึงการจัดนิทรรศการจะโดยใช้กระดาษลูกฟูก, พาเลตไม้, สมาร์ทบอร์ด และท่อพลาสติก PE100 เป็นวัสดุหลัก ส่วนตัวหนังสือก็จะพิมพ์ด้วยหมึก ECO INK หรือหมึกถั่วเหลือง
หลังจบงานวัสดุจากเวทีและนิทรรศการทั้งหมด เอสซีจีจะนำไปแปรรูปเพื่อนำกลับมาใหม่ และอีกส่วนส่งมอบให้มูลนิธิกระจกเงาเพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษา
งานนี้คิดและใส่ใจในรายละเอียดมาก ขนาดอาหารภายในงานยังใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่ง และไม่ใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำให้เกิดขยะ รวมทั้งแจกกระบอกน้ำพลาสติกแบบใช้ซ้ำได้ให้ผู้เข้าร่วมงานเป็นของชำร่วย เพื่อลดการบริโภคจากขวดแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
ขณะที่มิติด้านการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ได้ปรับอุณหภูมิห้องประชุมที่ใช้จัดงานให้อยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส และได้เชิญชวนผู้ร่วมงานแต่งกายโดยไม่ใส่สูทมาร่วมงาน ส่วนจอภาพที่ใช้ในงานก็ใช้จอแอลอีดีซึ่งประหยัดพลังงานไฟฟ้าเช่นกัน
ภายในงานยังมีถังขยะที่แยกประเภท เพื่อรณรงค์ให้รู้จักการแยกขยะ และเอสซีจียังบอกด้วยว่าได้เลือกโรงแรมจัดงานที่อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้า เพื่อผู้เข้าร่วมงานจะได้เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวให้สิ้นเปลืองพลังงาน
หลังจบงานเอสซีจี ได้คำนวณปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ลดลงจากการจัดงานในรูปแบบนี้ได้ทั้งหมด 83,160 กิโลกรัม
นับเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการจัดงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกส่วนของงาน ซึ่งได้ผ่านกระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วน ยึดหลักใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดแต่เกิดประโยชน์มากที่สุด อุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมบางส่วนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ บางส่วนนำไปผลิตแปรรูปเป็นสินค้าแบบใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มได้
มีหลากหลายวิธีที่มนุษย์บนโลกใบนี้จะช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรให้อยู่ไปตราบชั่วลูกหลาน เพียงแค่คิดและใส่ใจ ไม่มักง่าย ไม่บริโภคจนลืมตัว และอย่ามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเมื่อเราทำลายธรรมชาติหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ภัยธรรมชาติก็จะย้อนกลับมาทำร้ายเรารุนแรงมากขึ้นเช่นกัน.
สมพิศ ศรีนาค