“ส้วม” ใครคิดว่าไม่สำคัญ ... แม้ส้วมจะเป็นแดนปลดทุกข์ รองรับคนทุกข์หนัก ทุกข์เบา แต่เมื่อได้ปลดแล้ว ถือเป็นแดนสวรรค์ชั้นฟ้า
และยิ่งเป็น “ส้วม” ของสนามบิน โดยเฉพาะ สนามบินสุวรรณภูมิ ของ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) แล้วละก็... พูดได้เลยว่าถือเป็นห้องรับแขกด่านหน้าของประเทศไทย ที่คอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
เพราะในแต่ละวันมีคนต่างด้าวท้าวต่างแดน เดินทางเข้าออกสนามบินกว่าวันละ 170,000-200,000 คน ยิ่งจำนวนผู้โดยสารมากเท่าไร การใช้บริการส้วมก็มีปริมาณมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
การบริหารจัดการ “ส้วม” ในสนามบิน จะสาหัสสากรรจ์เพียงไร หัวเรือใหญ่ ทอท. “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ฉายภาพให้เห็นกันจะจะ
เริ่มจาก “ส้วม” ขาออก...เป็นจุดที่ผู้โดยสารใช้บริการมาก เหตุเพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้โดยสารมีเวลาอยู่ในสนามบินนาน และจะเข้าห้องน้ำ-ห้องส้วมมากกว่าปกติ ตามสถิติพบว่าผู้โดยสารจะเข้าใช้ห้องส้วมขาออกเฉลี่ย 435 คน/ชั่วโมง/จุด ส่วน “ส้วม” ขาเข้า นั้น สถิติพบว่าผู้โดยสารเข้าเฉลี่ย 331 คน/ชั่วโมง/จุด ถามว่าทำไมคนใช้ส้วมขาเข้าน้อยกว่าขาออก?...น่าจะตอบได้ว่าพอลงเครื่องปุ๊บ ผู้โดยสารอาจรีบพุ่งตัวกลับบ้านหรือไปต่อยังจุดหมายอื่น
ทั้งนี้ “ส้วม” ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีไว้ให้ปลดทุกข์สิริรวม 404 จุด หรือ 1,522 ห้อง ด้วยจำนวนห้องส้วมที่มากขนาดนี้ ทอท.ต้องใช้พนักงานคอยเกาะติดดูแลถึง 3 กะ รวมกว่า 1,209 คน เรียกได้ว่าต้องมีคนคอยเฝ้าหน้าห้องส้วมตลอด 24 ชั่วโมงในทุกจุด เพื่อไม่ให้ความสกปรกคลาดสายตาส่วนการทำความสะอาด ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะทาง ทอท.มี “แผนรับมือส้วมฉบับพิเศษ” เป็นการเฉพาะ แผนมีทั้งทำความสะอาดตามวงรอบปกติ และแผนรองรับเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินแบบแปลกๆ
ทีนี้ลองมาดูการทำความสะอาดในภาวะปกติก่อน โดยเฉพาะห้องน้ำชาย ช่วงปกติพนักงานจะทำความสะอาดกันทุก 10 นาที แต่ถ้าทำความสะอาดระยะห่างกว่านี้ ขอบอกว่าวินาศแน่ ยิ่งถ้ามีปัสสาวะหยดแรกหยดลงบนพื้น ก็จะมีหยดต่อๆไปตามมาทันที เพราะเมื่อพื้นสกปรก ผู้ชายจะถอยห่างจากโถ จึงมีโอกาสที่ปัสสาวะจะหยด เรี่ยราดเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีกรณี “โถปัสสาวะผู้ชาย” ที่เมื่อมีคนมาใช้ถี่ เดินเข้า-ออกจากโถกันเร็วมากจนตัว censor ราดน้ำอัตโนมัติ จับการเคลื่อนไหวไม่ทัน ก็ต้องปรับตั้งตัว censor ให้ sensitive ขึ้น ทำงานได้ไวขึ้น
“ผมเคยบอกแม่บ้านว่า แม้จะทำความสะอาดถี่ แต่เราก็ยังได้รับคำตำหนิอยู่ดี จึงอยากให้แม่บ้านทำให้ถี่ขึ้น โดยเฉพาะตอนที่มีผู้โดยสารลงเครื่องมามากๆ แต่คนอยู่หน้างานบอกว่า ช่วงนั้นจะเข้าไปทำความสะอาดไม่ได้เลย เพราะความต้องการใช้หนาแน่นมาก ก็ต้องมานั่งคิดว่า จะทำอย่างไรให้ช่วงคนเยอะๆสกปรกน้อยที่สุด”
หรืออย่างกรณีกระดาษเช็ดมือ ที่ปัจจุบันอยู่คนละจุดกับอ่างน้ำ หลังจากล้างมือที่อ่างน้ำแล้ว ผู้โดยสารต้องเดินมือเปียกๆ ไปดึงกระดาษ อันนี้ก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้ “ส้วม” สกปรกเร็วขึ้น เพราะน้ำที่หยดลงพื้น แม้จะเป็นน้ำสะอาด แต่เมื่อมีคนเหยียบน้ำพื้นจะสกปรกทันที ทอท.จึงหาทางแก้ไข ด้วยการทยอยเปลี่ยนจุดติดกระดาษเช็ดมือ มาอยู่ตรงอ่างล้างมือเลย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหยดลงพื้น
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้โดยสารที่มาใช้บริการจะมีมหาศาล แต่การรับมือยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าพฤติกรรม เช่น เครื่องบินบางชาติที่แตะรันเวย์ปุ๊บ! พอเครื่องจอดสนิท ผู้โดยสารจะพร้อมใจกันพุ่งตัวออกจากเครื่อง กรูกันสวมวิญญาณนักวิ่ง 4×100 ตรงเข้าห้องส้วมเป็นอันดับแรก เข้าทีเดียวพร้อมกันเป็นร้อย
และที่พิสดารคือ ต้องเข้าไปถ่ายหนักพร้อมกันทั้งครอบครัว ซึ่งผู้โดยสารกลุ่มนี้จะมองหาพื้นที่ขนาดใหญ่ๆ เช่น ห้องน้ำคนพิการ เพื่อถ่ายหนักลงที่พื้นห้องน้ำพร้อมๆ กันทั้งครอบครัว!!!
หรือบางชาติจะไม่ปัสสาวะซ้ำรดที่คนอื่น หากคนแรกปัสสาวะในโถไปแล้ว คนหลังๆก็จะปัสสาวะลงที่พื้น!!!
ซึ่งถ้าทราบว่าเครื่องบิน ที่จะมีกรณีพิเศษดังกล่าวเทียบประตูหรือ Gate ไหน เจ้าหน้าที่ ทอท.ก็ต้องเตรียมแผนรองรับฉบับพิเศษในห้องน้ำบริเวณใกล้เคียงไว้ทันที เช่น เตรียมรถ cart ให้หน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าพื้นที่ก่อนที่จะครบ 10 นาทีตามรอบการทำความสะอาดปกติ หรือต้องรีบฆ่าเชื้อก่อนกำหนด เป็นต้น
ลำบากลำบนกันขนาดนี้ คนไทยที่แวะเวียนไปใช้บริการห้องน้ำสนามบิน ขอได้โปรดเห็นใจพนักงานทำความสะอาด ด้วยการดูแลความเรียบร้อยหลังการใช้บริการทุกครั้ง เชื่อว่าจะช่วยได้มากกว่าการตำหนิติเตียนสถานเดียว.
สุรางค์ อยู่แย้ม