นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่ โดยเฉพาะบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานยาสูบต้องปรับราคาขายปลีกสูงขึ้นตั้งแต่ 3-20 บาทต่อซอง ขณะที่บุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า ปรับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและบางยี่ห้อปรับราคาขายลดลง ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาด ณ เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เหลือเพียง 55-56% จากเดิมส่วนแบ่งการตลาดอยู่สูงถึง 80% “อัตราภาษีบุหรี่ใหม่ ทำให้บุหรี่ต่างประเทศปรับราคาลดเหลือซองละ 60 บาท ส่วนบุหรี่ไทยที่เคยขายถูกซองละ 35-40 บาท ต้องปรับราคาขึ้นโดยจำหน่ายซองละ 60 บาทเท่ากับบุหรี่ต่างประเทศ”
นางสาวดาวน้อยกล่าวว่า ในปีนี้กำลังการผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบจะอยู่ที่ 18,000 ล้านมวนต่อปี จากกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 65,000 ล้านมวนต่อปี หลังจากเปิดโรงงานยาสูบแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลังและโรงงานยาสูบคาดการณ์ผิดพลาดไป โดยเฉพาะโรงงานยาสูบแห่งใหม่ ต้องจ่ายค่าเครื่องจักรเพียงอย่างเดียวมูลค่าถึง 16,000 ล้านบาท โดยโรงงานยาสูบนำกำไรแต่ละปี มาทยอยจ่ายเป็นค่าเครื่องจักร ซึ่งยังเหลือค้างจ่าย 7,000 ล้านบาท โดยในปี 2561 มีสัญญาผูกพันต้องจ่ายอีก 2,900 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักๆ 4 เรื่องคือ 1.ค่าใช้จ่ายในการย้ายโรงงานจากถนนพระราม 4 ไปยังโรงงานใหม่ที่อยุธยา 2.ค่าใช้จ่ายในการดูแลโรงพยาบาลยาสูบ 3.การสนับสนุนนโยบายรัฐด้วยการรับซื้อใบยาสูบสูงกว่าราคาตลาด 22 บาทต่อกิโลกรัม 4.ค่าก่อสร้างสวนเบญจกิติ รวมแล้วเป็นเงินอีก 1,500 ล้านบาท “ตัวเลขเบื้องต้นที่คำนวณออกมาแล้ว พบว่าปีนี้ โรงงานยาสูบจะขาดทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2491 หรือกว่า 70 ปี โดยประเมินว่า เดือน พ.ค.นี้ สภาพคล่องจะเริ่มติดลบ ทำให้ต้องกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่อง โดยแต่ละเดือนโรงงานใช้สภาพคล่องเงินสด 4,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันสภาพคล่องใกล้ติดลบแล้ว โดยล่าสุดได้หารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อทำเรื่องขอกู้เงินแล้ว แต่ยังไม่ทราบจำนวน เพราะอยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งเป็นภาพที่ติดลบมากๆเพราะปีที่แล้ว มีกำไรถึง 9,344 ล้านบาท”.