คลังเตรียมเสนอ ครม.เคาะอัตราภาษีสุรา-เบียร์-ยาสูบใหม่ ก่อนกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ 16 ก.ย.นี้ ด้านภาคเอกชนนำโดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ขานรับโครงสร้างภาษีใหม่เป็นแถว พร้อมเร่งปรับตัวให้ทันกำหนดบังคับใช้
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ต้นเดือน ก.ย.นี้ จะเสนอกฎกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีสรรพสามิต เพื่อกำหนดอัตราภาษีสุราและยาสูบภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิตฉบับใหม่ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยสาเหตุที่ต้องเสนอแยกในส่วนของสุราและยาสูบ หลังอัตราภาษีอื่น เพราะเกรงว่าจะมีผลต่อการกักตุนสินค้า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่เกิดการกักตุนสินค้าแน่นอน เพราะกฎหมายฉบับนี้มีการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น และอัตราภาษีจะลดลง ซึ่งจะไม่มีผลต่อราคาขาย ปลีกหรือกระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งนี้กฎหมายฉบับใหม่ ต้องการให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และชัดเจน
“อัตราภาษีสุรา และยาสูบใหม่ จะเสนอ ครม.พิจารณาก่อนที่กฎหมายสรรพสามิตใหม่จะบังคับใช้ โดยจะเสนอวันที่ 5 ก.ย.หรือ 12 ก.ย.นี้ ก่อนกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 16 ก.ย. เพราะเชื่อว่าจะมีผลในเรื่องการกักตุนบ้าง แต่ไม่มีนัยสำคัญแน่นอน เพราะกฎหมายฉบับใหม่ จะทำให้ฐานภาษีกว้างขึ้น การปรับอัตราภาษีเล็กลง ซึ่งจะทำให้ยอดการจัดเก็บภาษีไม่ต่างไปจากเดิม จึงเป็นตัวสะท้อนว่าผู้ประกอบการจะไม่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นแน่นอน” นายวิสุทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ในส่วนของเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์จะมีผลทันที ต่างกับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ที่จะมีระยะเวลาให้ปรับตัวเป็นช่วงๆ ช่วงละ 2 ปี รวมทั้งหมด 6 ปี
ด้านนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่จะมีการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ เช่น ภาษีจากค่าความหวาน จากเดิมไม่มีการจัดเก็บ เพราะต้องการส่งเสริมเกษตรกร แต่ตามข้อเรียกร้องของกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มเอ็นจีโอที่ต้องการให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลลง เพื่อส่งเสริมสุขภาพ จึงเพิ่มเข้าไปในกฎหมายฉบับนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ส่วนรายละเอียดต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน แต่เบื้องต้นจะมีการผ่อนผันระยะหนึ่งให้ผู้ประกอบการปรับตัว หากค่าความหวานมีไม่ถึง 6 กรัม จะไม่เสียภาษี รวมถึงกฎหมายจะให้การปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
ขณะที่นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวระหว่างร่วมงานสัมมนา “ภาคธุรกิจต้องปรับตัว อย่างไรภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่” โดยยอมรับว่า ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่มีระยะเวลาให้เอกชนปรับตัว ด้วยการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป นวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ต้องเน้นการผลิตสินค้าดูแลสุขภาพ หากรายใดไม่ปรับตัวจะอยู่ไม่ได้ แต่โดยส่วนตัวมองว่า การจัดเก็บภาษีจากความหวานยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพมากนัก เพราะโรคเรื้อรังร้ายแรงไม่ติดต่อ (NCDs) ยังมีอยู่ในสินค้าอื่นๆ เช่น สินค้าชงดื่ม อย่างชาเย็น กาแฟ น้ำขิง ตามร้านค้าทั่วไป จึงต้องการให้จัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม
“ปัจจุบันสินค้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มี 3 กลุ่ม คือ 1.น้ำอัดลม 2.เครื่องดื่มชูกำลัง เกลือแร่ น้ำดื่ม และ 3.น้ำผักผลไม้ นมถั่วเหลือง โดยฝาปิดผนึกต้องแจ้งเสียภาษีสรรพสามิต ขณะที่น้ำผลไม้ตามร้านค้าทั่วไปไม่ปิดผนึก คั้นสดแล้วจำหน่ายเลย ยังได้รับการยกเว้นภาษี”
สำหรับผลการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ครั้งนี้ จะทำให้ภาคเอกชนต้องปรับต้นทุนการผลิต เพื่อชดเชยภาระภาษี ปรับกลยุทธ์การตลาด เปลี่ยนเป็นสินค้าสุขภาพ และอนาคตจะเห็นมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และเลือกสินค้าไม่ทำลายสุขภาพ ด้วยการสมัครเข้ามาตรฐานรับรองสัญลักษณ์ “โภชนาการทางเลือกเพื่อสุขภาพ” เพื่อติดฉลากให้ประชาชนรู้ว่า ความหวานน้อยเหมือนกับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ซึ่งยอมรับว่าผู้ประกอบการเครื่องดื่มความหวานต้องปรับตัวรองรับมาตรฐาน“เครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ” จาก 44 ในปี 60 เพิ่มเป็น 124 รายใน 5 ปีข้างหน้า และการปรับสูตรการผลิตลดความหวานจาก 19 รายในปี 60 เพิ่มเป็น 81 รายในอีก 5 ปีข้างหน้า และขอให้ลดดุลพินิจจากเจ้าหน้าที่ในการประเมินฐานภาษีจากผู้ประกอบการ
นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่อง ดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลเน้นจัดเก็บภาษีด้านปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้นกว่าการคำนวณจากราคา ทำให้แอลกอฮอล์สูงต้องจ่ายภาษีแพงขึ้น แต่เมื่อรัฐบาลยืนยันว่าการกำหนดอัตราภาษีใหม่จะไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งก็จะทำให้ไม่กระทบกับผู้ผลิตและผู้นำเข้าด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับใหม่กำหนดโทษรุนแรงขึ้น ค่าปรับและเงินเพิ่ม 4-5 เท่าของมูลค่าสินค้า จะทำให้สินค้าที่เคยหลีกเลี่ยงภาษีกลับเข้าสู่ระบบมากขึ้น.