หลังจากที่รอคอยกันมายาวนาน ตั้งแต่การประกาศยุบสภาช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการ และ “รัฐบาล เศรษฐา 1” ฟิตเต็มที่พร้อมเดินหน้าตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ทั้งการประกาศลดค่าไฟทันที ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก รวมทั้งนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล ที่ทั้งประชาชน และภาคธุรกิจรอคอย
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาเก่าที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกระทบต่อคำสั่งซื้อในภาคส่งออก หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ นักท่องเที่ยวจีน และรายได้จากท่องเที่ยวโดยรวมก็ยังไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ไว้ ยิ่งไปกว่านั้น การขาดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ยาวนาน กำลังส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน
การที่ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” มาจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีวิสัยทัศน์ที่ดี สามารถรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ จึงกลายเป็น “ความคาดหวัง” สูงสุด ให้เร่งเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจากความซบเซาให้รุ่งเรืองอีกครั้ง “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ ในตลาดเงินตลาดทุน อุตสาหกรรม และการค้า เพื่อสะท้อนปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข นอกเหนือจากเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน
สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
รัฐบาล “เศรษฐา 1” จะเห็นภาพการผสมผสานระหว่างรัฐมนตรีเก่า ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง และการบริหารงานในกระทรวงต่างๆ และรัฐมนตรีใหม่ ที่มีไฟ และพร้อมขับเคลื่อนนโยบายตามที่นำเสนอไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล ได้จัดวางตัวบุคคลไว้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ
“หลายกระทรวงปรับเปลี่ยนบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาทำหน้าที่ บางกระทรวงมีบุคคลที่เคยบริหารกระทรวงดังกล่าวมาก่อน ทำให้บริหารงานต่อได้ทันที และยังมีรัฐมนตรีหน้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ภาคเอกชน หวังว่าจะขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นเร่งด่วนในขณะนี้”
สำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หอการค้าไทย ได้ระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากหอการค้าจังหวัด สมาคมการค้า และหอการค้าต่างประเทศ เพื่อจัดทำ Priority Issues หรือข้อเสนอเร่งด่วนของภาคเอกชน ที่จะเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ และเตรียมเสนอในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาแก้ไข และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% ในปีนี้
โดยนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำทันที ได้แก่ การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชน ทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า รวมถึงแก้ไขปัญหาหนี้ผู้ประกอบการและหนี้ครัวเรือน ควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
และที่สำคัญ หากไม่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยปีนี้หลุดเป้าหมายขยายตัว 3% ต้องเร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) เพื่อดึงเม็ดเงินเข้ามาช่วยเสริมในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อ จัดทำงบประมาณรายจ่าย 67 และสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อดึงดูดเงินลงทุนใหม่ๆ จากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อการส่งออก
พร้อมกันนั้น จะเสนอให้ปัดฝุ่นความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ทั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.ส่วนกลาง) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ กรอ.ระดับหน่วยงาน เช่น กรอ.พาณิชย์ กรอ.พลังงาน และในระดับภูมิภาค เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะกลาง และระยะยาวอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เป้าหมายเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 5% มีความเป็นไปได้
สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่ต้องใช้งบประมาณถึง 560,000 ล้านบาท ประเมินว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คิดเป็นเงิน 1-1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยดึงกำลังซื้อในประเทศให้กลับมาคึกคัก ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีหน้าขยายตัวได้ราว 5% ภายใต้เงื่อนไขส่งออกขยายตัว 3-5%
นอกจากนั้น รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆให้มากและเร็วที่สุด เพื่อขยายโอกาสส่งออก โดยเฉพาะ 4 ประเทศ ที่หอการค้าฯปักหมุดให้เป็น Strategic Counties ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม อินเดีย รวมถึงรักษานักลงทุนเดิมอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ
เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
“หลังจากที่ประเทศไทยได้คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก็ช่วยบรรเทาความกังวลและคลี่คลายสถานการณ์ภาคธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากคุณเศรษฐา เป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์และความสามารถในการทำงาน อีกทั้งมีวิสัยทัศน์ดี เข้าใจทั้งในภาคเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก มีมุมมองต่อการรับมือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และทราบความต้องการนักธุรกิจและประชาชนที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยบริหารประเทศในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยยังคงผันผวนและเปราะบาง”
ส่วนโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ หลายชื่อก็โอเคเคยเห็นผลงานมาก่อน แต่หลายชื่อก็เป็นคนใหม่ยังไม่เคยเห็นผลงาน และบางรายชื่อก็ดูเหมือนไม่ค่อยตรงกับความถนัดหรือความเชี่ยวชาญของตนเอง ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าสถานการณ์ของรัฐบาลผสม 11 พรรค มีข้อจำกัดทางด้านข้อตกลงเรื่องโควตาการจัดสรรของแต่ละพรรค แต่จุดเด่นของพรรคเพื่อไทย คือสามารถผลักดันให้ทีมเศรษฐกิจพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆทำงานไปในทิศทางเดียวกันได้
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ไม่มีเวลาฮันนีมูน เวลานี้ภาคเอกชนต่างจับตา ครม.ชุดใหม่ ของคุณเศรษฐา และอยากให้เร่งเข้ามาทำงานทันที เนื่องจากตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ของไทยเติบโตเพียง 1.8% แสดงให้เห็นถึงภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน อีกทั้งต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ตลอดจนผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
“สิ่งที่ ครม.ชุดใหม่ ต้องเร่งดำเนินการ คือการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน ดูแลกลุ่มครัวเรือนที่เปราะบาง จากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งค่าอาหาร สาธารณูปโภค ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย ฯลฯ ทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของจีดีพี หรือ 15 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมหนี้นอกระบบอีก 19.6% ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กดดันเศรษฐกิจในเวลานี้”
โดยการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนจะต้องมีการบูรณาการทำงานในทุกมิติ ตั้งแต่การออกมาตรการลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าเดินทาง ค่าเล่าเรียน เป็นต้น การส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ การดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและรักษาระดับราคาสินค้า ที่สำคัญ คือ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบมุ่งเป้าหมายเพื่อเพิ่มเม็ดเงินเข้าไปหมุนระบบเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อของภาคครัวเรือน และทำให้เกิดการจ้างงานในระบบ
“ทุกภาคส่วนต่างคาดหวังกับการทำงานของ ครม.ชุดใหม่นี้ รัฐบาลใหม่จะต้องทำงานหนักมีประสิทธิภาพสูงและโปร่งใส ปราศจากคอร์รัปชัน เพื่อเปลี่ยนความคาดหวังและแรงกดดันนี้ ไปเป็นพลังในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยฝ่าความท้าทายต่างๆ โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ”
นาวา จันทนสุรคน
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเมืองไทยเป็นรัฐบาลผสม (Coalition Government) มาตลอด รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 62 ก็เป็นรัฐบาลผสม 19 พรรคการเมือง แต่สามารถบริหารราชการได้มีเอกภาพ มีผลงานในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และแม้ใน 2 ปีหลัง เศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่ไทยยังคุมเงินเฟ้อได้ค่อนข้างดี
“มาถึงรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 66 ซึ่งเป็นรัฐบาลผสม 11 พรรค ขณะที่มีนายกรัฐมนตรีซึ่งมีประสบการณ์โชกโชน ประสบความสำเร็จสูงในภาคธุรกิจ มีความเป็นผู้นำสูง และข้อที่ดีคือ พรรคร่วมรัฐบาลยึดหลักสลายขั้ว โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติจริง ก็ย่อมบริหารราชการได้มีประสิทธิผล แก้ไขปัญหาที่เผชิญ และพัฒนาประเทศไทยต่อไปได้แน่นอน”
แต่ต้องยอมรับว่า โจทย์สำหรับรัฐบาลใหม่ไม่ง่าย เพราะทิศทางเศรษฐกิจของโลก คาดว่า ปีนี้จะเติบโตได้ราว 3.0% ส่วนเศรษฐกิจไทย แม้เป็นทิศทางบวก แต่ในครึ่งแรกของปี 66 เติบโตเพียง 2.2% เท่านั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก และต่ำกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ ขณะที่การส่งออกและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทย ติดลบต่อเนื่องกันมา 3 ไตรมาสแล้ว ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 65
ที่สำคัญภาคการผลิตของทุกอุตสาหกรรมยังใช้กำลังการผลิตต่ำ ล่าสุด ไตรมาส 2 ปี 66 ใช้กำลังการผลิตเพียง 57.6% และหากเจาะลึกบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็กยังใช้กำลังการผลิตในปี 66 ต่ำมากเพียง 28.5% เนื่องจากความต้องการใช้สินค้าในประเทศลดลง และสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในไทย และแย่งส่วนแบ่งตลาด ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญปัญหา โดยเฉพาะการทุ่มตลาดจากสินค้าจีน
ดังนั้น รัฐบาลควรดูแลอุตสาหกรรมในประเทศเช่นเดียวกับที่หลายประเทศดำเนินการ เช่น สหรัฐฯ ที่เน้นการค้าเสรี แต่ก็ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเต็มที่ โดยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และตอบโต้การอุดหนุน (CVD) สินค้าจากประเทศต่างๆ รวมกันแล้วถึง 670 มาตรการ และที่ยังอยู่ระหว่างเร่งไต่สวนอีก 59 มาตรการ ขณะที่ไทยก็กำลังประสบปัญหาในลักษณะดังกล่าว แต่เราใช้มาตรการดังกล่าวค่อนข้างน้อยและช้า และยังไม่เคยมีการใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti Circumvention) แต่อย่างใด
“ในฐานะภาคอุตสาหกรรมและประชาชนไทย ขอสนับสนุนรัฐบาลใหม่ และคาดหวัง
ให้เร่งมือทำเพื่อให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายดีกว่าที่สภาพัฒน์คาดการณ์จะเติบโต 2.5-3.0% และคาดหวังให้รัฐบาลบูรณาการภารกิจระหว่างกระทรวงต่างๆ ที่ รมว.มาจากต่างพรรคให้ได้โดยลึกซึ้ง เก่งทั้งเชิงรุก และเชิงรับ รู้ทันสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง ส่งเสริมการค้าการลงทุนที่มีมูลค่าสูง ปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อให้พึ่งพาตนเองในระยะยาว”
กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
“การที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้คุมกระทรวงเศรษฐกิจหลักๆที่สำคัญ คือ กระทรวงคมนาคม พาณิชย์ คลัง และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจให้สอดรับและประสานกันได้ดีขึ้น เพราะถือเป็นกระทรวงหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญจะไม่ได้อยู่ภายใต้พรรคแกนนำ แต่หวังว่าจะทำงานร่วมกันได้ด้วยดี”
ภาคเอกชนในตลาดทุนขอเป็นกำลังใจ และอยากให้ ครม.ใหม่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้าย หรือ 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้อยู่รอด เพื่อให้เกิดโมเมนตัมที่ดีไปสู่เศรษฐกิจปีหน้า ภายใต้ความเสี่ยงและความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน
ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกายังวางใจไม่ได้ในเรื่องเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะมีผลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่เศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังมีปัญหาออกมาเรื่อยๆ “ปีนี้เป้าหมายสำคัญคือประคองให้ประเทศผ่านพ้นไปได้ ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนรับมือกับวิกฤติความผันผวน และความท้าทายของเศรษฐกิจโลก เพื่อให้ปีนี้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อได้”
ขณะที่ในระยะสั้น รัฐบาลต้องเร่งดึงเรื่องการท่องเที่ยวและเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งนโยบายฟรีวีซ่า ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ดีมาก ที่จะทำให้การท่องเที่ยวเดินหน้าเต็มที่ในช่วงท้ายปี เพื่อเร่งดึงเงินเข้าประเทศ เพราะจะหวังพึ่งพาการส่งออกทำได้ยากขึ้น เพราะผู้ประกอบการมากกว่า 20 อุตสาหกรรมในไทยเริ่มบ่นว่า ขณะนี้สินค้าจีนราคาถูกออกมาตัดราคาสินค้าไทยเยอะมาก ขณะที่สินค้าที่ส่งออกไปจีนก็โตไม่ได้มาก เพราะเศรษฐกิจจีนยังไม่ดี ดังนั้นจึงต้องเร่งออกนโยบายมากระตุ้นการท่องเที่ยว
ส่วนการเงินดึงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยนั้น ขณะนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะกลุ่มทุนต่างๆต้องการเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด หลังจีนมีปัญหาการค้ากับสหรัฐฯ ขณะที่เวียดนามยังมีปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น รัฐบาลควรตั้งทีมงานเฉพาะกิจ มาดูแลกลุ่มทุนหรือกลุ่มอุตสาหกรรมต่างชาติขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนระยะยาวในไทย เพื่ออำนวยความสะดวกและให้เกิดความเชื่อมั่นเหมือนกับที่รัฐบาลอังกฤษทำสำเร็จในเรื่องนี้
“ขณะเดียวกัน ภาคตลาดทุนกำลังจับตานโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่าจะมีนโยบายหลักที่สำคัญอย่างไร อย่างไรก็ตาม ภาคีมีนัยต่อตลาดทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุน”.
ทีมเศรษฐกิจ
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม