จากเงินเฟ้อของสหรัฐฯ สู่ความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จากเงินเฟ้อของสหรัฐฯ สู่ความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย

Date Time: 3 ส.ค. 2565 09:00 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • Shifting from Inflation to Recession จากความกังวลด้านเงินเฟ้อ สู่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ

Latest


Shifting from Inflation to Recession จากความกังวลด้านเงินเฟ้อ สู่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ

ในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นที่ตลาดกังวลอย่างมากคงหนีไม่พ้นเรื่องของเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึงการที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ ได้อัดฉีดปริมาณเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านทั้งมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการให้เงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน หรือ Unemployment benefits แก่ประชาชน

ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังการเปิดเมืองตั้งแต่ปีก่อน

อย่างไรก็ดี อีกประเด็นสำคัญคือห่วงโซ่อุปทานที่ตึงตัว ทั้งจากการขาดแคลนแรงงาน การขนส่งที่ล่าช้าจากการปิดท่าเรือสำคัญหลายแห่ง และการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ส่งผลให้ปริมาณอุปทานสินค้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาสินค้าหลายประเภทปรับสูงขึ้น

โดยนับตั้งแต่สิ้นไตรมาส 1/64 ดัชนีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) และดัชนีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมายที่ 2% ต่อปี และเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปี

อย่างไรก็ดี ในระยะแรก ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังเชื่อว่าเงินเฟ้อที่สูงเป็นเรื่องชั่วคราว (Transitory) และจะปรับลดลงในปี 2565 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงถูกตรึงไว้ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0-0.25% และมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ยังถูกใช้ต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่ตลาดส่วนใหญ่เริ่มกังวลถึงความเสี่ยงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะถอนมาตรการกระตุ้นหรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าเกินไป (Behind the curve) จนไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ และอาจทำให้ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่ควรจะเป็นจนส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ในเวลาต่อมา สิ่งที่ตลาดกังวลเริ่มเป็นจริง โดยเงินเฟ้อได้เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดปี 2564-2565 และไม่มีสัญญาณว่าจะชะลอลง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเร่งดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ผ่านการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงโควิด สู่ระดับ 0.25-0.5% ในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งในขณะนั้น ตัวเลข PCE และ Core PCE อยู่ในระดับสูงถึง 6.6% และ 5.2% ตามลำดับ

นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้วถึง 2.25% โดยการประชุมในเดือนมิถุนายน ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หลังตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี

ภายหลังการประชุม ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้สื่อสารว่าพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องหากเงินเฟ้อยังไม่ชะลอลง และล่าสุดในเดือนกรกฎาคมนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 3.25-3.5% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงถึง 3.25% ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี

การเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession โดยจากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ในเดือนก.ค.ของ Bloomberg พบว่า 48% เชื่อว่าสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายใน 2 ปีข้างหน้า

ขณะที่ 40% เชื่อว่าสหรัฐฯ อาจเกิด Hard landing (การขยายตัวของเศรษฐกิจเป็น 0 หรือติดลบแค่ในระยะเวลาสั้นๆ) แต่จะไม่ถึงขั้นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะถูกประกาศโดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER)

ปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ได้ปรับลดลงสู่ระดับต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี หรือเรียกว่าเกิด Inverted yield curve (2-10 spread ติดลบ) ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต และเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

จากสถิติในอดีต พบว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักจะเกิดหลังจากการติดลบของ 2-10 spread ประมาณ 1-2 ปี นอกจากนี้ ตลาดการเงินเริ่มคาดการณ์ถึงการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (จากเดิมที่ตลาดมองว่าดอกเบี้ยจะขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 3.75-4.0% ในช่วงสิ้นปี 2566)

ขณะที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นกว่า 11% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งแสดงถึงการที่นักลงทุนกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยและขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมาอย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบัน ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ ของสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภค เป็นต้น ประกอบกับตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ล่าสุดที่พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัว 0.9% ต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่หดตัว 1.6% ซึ่งแสดงถึงการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หรือ Technical recession

อย่างไรก็ดีปัจจุบัน ตลาดแรงงานซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดภาวะถดถอย ที่สำคัญ ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยการจ้างงานในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังไม่ติดลบดังที่เกิดในภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีต

ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจหดตัวในรอบนี้ หรือ Technical recession จะยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 3.6% และภาคธุรกิจโดยรวมยังคงเพิ่มการจ้างงานต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี โอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 และ 2567 ก็มีไม่น้อย หากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และภาคธุรกิจมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตมากขึ้นจนเริ่มชะลอการผลิต และนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้างมากขึ้น

หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่อง คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นด้วย ไทยจึงควรเตรียมตัวรับมือผลกระทบที่จะมีสูงขึ้น โดยเฉพาะจากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลงในระยะข้างหน้า โดยอาจหันมาเน้นการขยายตัวจากเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ที่จะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังได้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปตามลำดับ


บทความโดย ณิชนันท์ โลกวิทูล
นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ