Krungthai COMPASS คาดการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2022 ยังคงขยายตัวได้ แต่เศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ขยายตัวแผ่วลง และแรงกดดันด้านต้นทุนยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ
Krungthai COMPASS มองว่า ในปี 2022-2023 ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรจะยังขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งผลจากฐานสูง และปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด อาทิ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งปีหลัง และต้นทุนดำเนินงานที่สูงขึ้น
ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง : ในปี 2022-2023 คาดว่ามูลค่าส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งอยู่ที่ 223,120 และ 261,051 ล้านบาท หรือขยายตัว 17.3%YoY และ 17.0%YoY ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย คิดเป็น 53% ประกอบกับไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน ทำให้ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง
ประกอบกับคาดว่าในระยะข้างหน้าการส่งออกผักและผลไม้ของไทยไปจีนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเดินรถไฟจีน-ลาว เนื่องจากเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกผักและผลไม้จากไทยไปจีนมากขึ้น รวมทั้งสามารถลดต้นทุนการขนส่งและระยะเวลาการขนส่งเหลือเพียง 15 ชั่วโมง เร็วกว่าการขนส่งทางถนนที่ใช้เวลาถึง 2 วัน
อย่างไรก็ดี การเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบกักกันโรค (CIQ) อาทิ การปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อ โควิด-19 สำหรับโรงงานผลิตผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยของทางการจีน
ทำให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้น และอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อสินค้าส่งออกของไทย
โดยในช่วงแรกอาจทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออก ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เนื่องจากสินค้าของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ
มันสำปะหลัง : ในปี 2022-2023 ปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดของไทยจะอยู่ที่ 5.5 และ 5.7 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 5% ต่อปี ขณะที่ปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 5.1 และ 5.5 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 6% ต่อปี เนื่องจากสต๊อกข้าวโพดจีน (สินค้าทดแทน) มีทิศทางลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตจีนมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในปี 2022-2023 ราคาเฉลี่ยมันเส้นในประเทศและราคาส่งออกจะลดลงอยู่ที่ 6.3-6.6 บาทต่อกก. และ 230-245 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ ขณะที่ราคาเฉลี่ยแป้งมันในประเทศและราคาส่งออกในปี 2022-2023 จะลดลงมาอยู่ที่ 11.9-12.5 บาท/กก. และ 420-440 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตหัวมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 33.0 ล้านตัน และ 33.0 ล้านตัน ตามลำดับ หลังราคาหัวมันสดในปี 2021 จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก
Krungthai COMPASS มองว่า แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2022 จะขยายตัวได้ แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มขยายตัวแผ่วลง จากปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และผลกระทบจากนโยบายการจัดการด้านพลังงาน อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคจีน และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวโน้มต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบสินค้าเกษตร บรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่ง จะกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการส่งออกอาหารสำเร็จรูป เช่น เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง เนื่องจากมีสัดส่วนต้นทุนจากวัตถุดิบสินค้าเกษตร บรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งรวมกัน 80-90% ของต้นทุนทั้งหมด
มาตรการที่เข้มงวดด้านสุขอนามัยของจีน อาทิ การเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อโควิด-19 ของทางการจีน ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตผักและผลไม้สดแข่เย็นแช่แข็งจากไทยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งในช่วงแรกอาจทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออก ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปี 2022 อาจส่งผลกระทบกับราคาส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ต่ำ เช่น ข้าวสาร ยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้ผู้ส่งออกกลุ่มสินค้าดังกล่าวอาจได้รับ Margin ที่บางลง
ปัญหาค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อต้นทุนการขนส่งของการส่งออกสินค้าเกษตรไทย โดยสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเล ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ยาง
นอกจากนี้ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ทำให้คาดว่าความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นมาก กดดันให้อัตราค่าระวางเรือจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงปี 2022-2023
ส่วนปัจจัยท้าทายใหม่ด้านมาตรการสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าอย่าง EU และสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์และอาหารสัตว์ต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเป็นสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเมื่อเทียบกับภาพรวมสินค้าเกษตรด้วยกัน และพึ่งพาการส่งออกสินค้าไป EU และสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากลุกลามจนทำให้รัสเซียโดนคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และ EU อาจเป็นโอกาสในการขยายตลาดของผู้ส่งออกอาหารไทย จากความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการนำเข้าจากสหรัฐฯ และ EU โดยสินค้าอาหารที่รัสเซียนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้กระป๋อง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องปรุงรส.