ตลาดอสังหาฯ วันนี้ ไม่ใช่แค่เงียบ แต่มันเงียบแบบที่ "ฟังเสียงลูกค้ายากขึ้นกว่าเดิม" สะท้อนจากรายได้รวมของ 38 บริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไตรมาสแรก ปี 2568 ที่ลดลงกว่า 21.04% เหลือ 56,134 ล้านบาท ขณะที่กำไรหายไปเกือบครึ่ง หดตัวถึง 47.63%
ในวันที่ตลาดเงียบ ความท้าทายของแบรนด์ไม่ใช่แค่การลดราคาเพื่อเร่งยอดขาย แต่คือการรักษาการรับรู้และความรู้สึกของผู้บริโภคไม่ให้หายไปพร้อมกับกระแสตลาด การทำให้แบรนด์ "อยู่ในใจคน" จึงสำคัญกว่าการแค่ "อยู่ในโฆษณา"
เพราะในวันที่แบรนด์อสังหาฯ ส่วนใหญ่หยุดรุก หยุดโปรโมต หยุดเปิดตัวโครงการใหม่ ยังมีบางแบรนด์ที่เลือกเดินเกมตรงข้าม ไม่ใช่การตลาดเสียงดังแบบเดิม แต่เป็นการตลาดที่ "ลึก" "จริง" และ "ต่อเนื่อง" ผ่านการเข้าใจ Insight ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
เจาะอินไซต์ คนยุคใหม่ นอกจากเลือกเช่ามากกว่า “ซื้อ” แต่คนที่ซื้อ ก็ไม่ได้ซื้อบ้านแค่เพราะทำเล ส่วนกลาง หรือโปรโมชั่น แต่เลือกแบรนด์ที่ "รู้สึกว่าคลิก" เป็นแบรนด์ที่สะท้อนรสนิยม ตัวตน และได้รับการยอมรับจากสังคมไปพร้อมๆกันด้วย
ซึ่งหากจะกล่าวว่า ในยุคที่ข้อมูลล้น แต่ความรู้สึกขาดแคลน ก็คงไม่ผิดนัก ผู้คนจึงไม่สนว่าแบรนด์นั้นๆ "แพงแค่ไหน" แต่อยากรู้ว่าแบรนด์นั้น "มีอะไรลึกพอให้รู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ไหม"
ซึ่งนี่เอง ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลให้แบรนด์อสังหาฯ ต้อง "ดูแพงในใจคน" ไม่ใช่แค่ "แพงในราคา" เหมือนเก่า
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ "เอพี ไทยแลนด์" ที่ล่าสุดสร้างปรากฏการณ์ในโซเชียลมีเดีย ด้วยนิทรรศการ ICONIC PEOPLE X ICONIC SPACE ภายใต้ธีม What’s in a name? ในงาน FaraTalk 2025
ธีมWhat’s in a name? ชื่อนั้นสำคัญไฉน’ ที่ชวนชาวช่องตามหาที่มาของ ‘ชื่อ’ สรรพสิ่ง ถอดรหัสความหมายของชื่อคุ้นหู ผ่านประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าที่น่าสนใจ
ซึ่งแทนที่จะขายบ้านหรือเปิดตัวโครงการ เอพีเลือกพาเรากลับไปตั้งคำถามถึงความหมายของพื้นที่และผู้คน ทำไมบางสถานที่จึงเปลี่ยนชีวิตคน? นิทรรศการนี้ไม่ได้พูดถึงฟังก์ชันบ้าน แต่พูดถึง "ความสัมพันธ์ของคนกับพื้นที่" และ "คุณค่าทางใจ" ที่บ้านให้เรา
นี่คือการสื่อสารแบรนด์แบบใหม่ ที่ไม่ได้เร่งขาย แต่เร่งเชื่อมโยง ไม่ได้แข่งกันในตารางเมตร แต่แข่งกันในระดับความรู้สึก เพราะในวันที่ทุกแบรนด์พูดถึงฟังก์ชัน ทำเล และราคา บางแบรนด์เลือกพูดถึงความฝัน ความทรงจำ และความผูกพัน นี่คือวิธีที่แบรนด์สามารถอยู่ในใจ แม้ตลาดจะเงียบแค่ไหนก็ตาม
ทั้งหมดนี้สะท้อนวิธีคิดของแบรนด์ที่ไม่ได้พยายาม “ดูแพงในราคา” แต่ตั้งใจ “ดูแพงในใจคน”ด้วยการเชื่อมต่อกับ Insight ลึกๆ ของมนุษย์ในฐานะคนใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่ในฐานะลูกค้า
SC Asset เป็นอีกแบรนด์ที่เลือกลงทุนกับ "คุณค่า" มากกว่า "โฆษณา" โดยเฉพาะการร่วมสนับสนุนงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่าง FaraTalk ในแบบที่ไม่มี Product Placement ชัดเจน แต่เต็มไปด้วย Value Placement
กลยุทธ์นี้ต่อยอดจากวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงและการนำโดยผู้นำรุ่นใหม่อย่าง "ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์" ที่เน้นให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพ ทั้งกับลูกบ้านและทีมงานภายใน
จากความใส่ใจภายใน ทำให้ SC Asset กลายเป็นหนึ่งในองค์กรอสังหาฯ ที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด และกลายเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าเชื่อถือ เพราะสัมผัสได้ถึงความจริงใจ
การสร้างแบรนด์อสังหาฯ ยุคนี้ จึงไม่ใช่แค่การโฆษณาดีไซน์บ้าน แต่คือการออกแบบคุณค่าภายในองค์กร แล้วส่งต่อออกไปจนคนรับรู้ได้ด้วยหัวใจ
แม้จะเป็นแบรนด์ที่ยืนหนึ่งในตลาดบ้านหรู แต่ Sansiri ไม่เคยหยุดนิ่ง ล่าสุดกับแคมเปญที่ร่วมงานกับ "หลิงหลิง คอง" สร้างสรรค์ซีรีส์ THE SECRET OF 00K ที่ไม่ได้เล่าถึงบ้าน แต่เล่าถึงความรู้สึกที่บ้านสามารถมอบให้
หลิงหลิงไม่ได้เป็นแค่พรีเซนเตอร์ แต่คือคนที่พาเราเข้าไปสัมผัสความหมายของคำว่า "บ้าน" ในฐานะพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ และพื้นที่ที่สะท้อนตัวตนได้อย่างเต็มที่
นี่คือ Emotional Branding ที่ Sansiri ทำได้อย่างต่อเนื่องมาหลายปี ผ่านการใช้สื่อ ศิลปะ และไลฟ์สไตล์ เพื่อเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ต้องการบ้านหรู แต่ต้องการบ้านที่ "เข้าใจเขา"
Sansiri จึงไม่ได้แค่ดูแพง แต่รู้จักสร้างความแพงทางใจ สื่อสารแบรนด์ด้วย immersion คือทำให้คน "รู้สึกถึงแบรนด์" มากกว่ารู้ว่าแบรนด์พูดอะไร
ท้ายที่สุด ภาพลักษณ์ที่ดี มีผลต่อยอดขายแน่นอน เพราะนั่นได้กลายเป็น “ต้นทุน” ความรู้สึกของคนซื้อไปแล้ว เมื่อแบรนด์เชื่อมโยงกับผู้คนได้ลึกพอ ก็จะไม่จำเป็นต้องแข่งเรื่องราคา มูลค่าทางใจเป็นสิ่งที่คู่แข่งก็ลอกเลียนไม่ได้ ทำให้ อสังหาฯ ยุคใหม่ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการก่อสร้าง แต่มากกว่าคือการ "ก่อร่างความรู้สึกดี ๆ" ในใจผู้คนนั่นเอง
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney