ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมีสภาวะผันผวนอย่างมาก ทั้งพิษหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้บริโภคหลัก คือ เด็กและครอบครัว ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากเทรนด์รักสุขภาพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้ตลาดขนมปังและเบเกอรี่ในช่วงปี 2566 - 2567 ที่ผ่านมายังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว เพราะคนไทยมองว่า “ขนมปัง” คือ “ขนม” ไม่ใช่อาหารหลัก จึงลดค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ลง
ทั้งนี้หากมองภาพรวมของตลาดขนมปัง มูลค่าอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท โดย บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด มหาชน ผู้ผลิตฟาร์มเฮ้าส์ ยังคงครองสัดส่วนทางการตลาดอันดับ 1 ด้วยการรักษาคุณภาพสินค้า พร้อมทั้งสร้างมูฟเมนต์ทางการตลาดทุกช่องทางเพื่อเข้าถึงกลุ่มบริโภคทุกเพศ ทุกวัย เหมือนกับสโลแกนที่ว่า “ฟาร์มเฮ้าส์สดใหม่ทุกเช้า ฟาร์มเฮ้าส์หอมกรุ่นจากเตา”
อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด มหาชน กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดขนมปัง และเบเกอรี่ไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะทรงตัว ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะเดียวกันสมรภูมิการแข่งขันของตลาดยังทวีความดุเดือด ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของฟาร์มเฮ้าส์ คือ ต้องเร่งแก้เกม นอกจากการทำแคมเปญทางการแล้วนั้น ต้องมีการจัดโปรโมชัน เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดด้วยเช่นกัน
อย่างเช่นในปัจจุบันฟาร์มเฮ้าส์มีสินค้ากว่า 120 SKUs กลุ่มขนมปังแผ่นถือเป็นพอร์ตสินค้าที่ใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มขนมปังสำหรับเบอร์เกอร์และขนมปังสำหรับฮอตดอก ต่อมาคือขนมปังพร้อมทาน ตลอดจนเค้กพร้อมทาน และเบเกอรี่อื่นๆ
โดยที่ Hero Product คือ “ขนมปังสอดไส้พร้อมทาน” แต่เมื่อไม่นานนี้ ได้มีการเปิดตัวสินค้าใหม่อย่าง “พ็อกเกตพิซซ่า” (Pocket Pizza) ที่ยังคงเน้นความสะดวกในการทานและพกพา ซึ่งเป็นภาพจำของสินค้าฟาร์มเฮ้าส์ ด้วยการออกแบบให้เป็น “พิซซ่า” ในรูปแบบขนมเปี๊ยะไส้พิซซ่า ฉีกภาพจำขนมปังแบบเดิมๆ ไปโดยสิ้นเชิง
ส่วนทางด้านการประชาสัมพันธ์ ในปี 2568 ฟาร์มเฮ้าส์ยังทุ่มงบการตลาด เพื่อเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ ด้วยแนวคิดสร้างการรับรู้ของแบรนด์ผ่านความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้แคมเปญทางการตลาดที่ฟาร์มเฮ้าส์ต้องการนำเสนอเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นแล้วนั้น ยังเสริมทัพด้วยการเพิ่มจำนวนตู้ขนมปัง (Vending Machine) จาก 500 ตู้ เป็น 1,000 ตู้ ภายในสิ้นปี 2568 โดยจะเน้นโลเคชันหลักคือ โรงงาน โรงพยาบาล โรงเรียน และชุมชน เพื่อสอดรับกับเทรนด์หลังยุคโควิดที่ผู้คนชินกับพฤติกรรมการบริโภคที่สะดวกรวดเร็ว และเข้าถึงได้ง่าย
“ฟาร์มเฮ้าส์ยังคงให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิตมาเป็นอันดับหนึ่ง ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสินค้า ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าไปยังผู้บริโภค โดยทางฟาร์มเฮ้าส์มีแผนการสร้างโรงงานผลิตแป้งด้วยตนเอง เนื่องจากมองว่า เป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต และการผลิตด้วยตนเองจะสามารถรักษาคุณภาพให้คงที่มากขึ้น ซึ่งโรงงานแป้งมีพื้นที่ 15 - 20 ไร่ และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ช่วงปลายปี 2569 พร้อมกับทุ่มงบ 600-700 ล้านบาท นำเข้าเครื่องจักรใหม่จากยุโรป เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตขนมปังให้ดียิ่งขึ้น และยังเพิ่มกำลังการผลิตขนมปังได้ 6,000 แถวต่อชั่วโมง” อภิเศรษฐ กล่าว
เช่นเดียวกับกระบวนการนำส่งไปยังร้านค้าต่าง ๆ ในปัจจุบันฟาร์มเฮ้าส์มีศูนย์กระจายสินค้า 51 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนจะลงทุนกับศูนย์กระจายเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถออกแบบกระบวนการขนส่งด้วยตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งในแง่พนักงานขนส่ง และลักษณะรถขนส่ง โดยที่ผ่านมาฟาร์มเฮ้าส์มีโครงการยกเลิก x-lift ท้ายรถขนส่งที่ช่วยลดน้ำหนักของรถขนส่งมากถึง 750 กิโลกรัมต่อคัน ทำให้ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้แม้ว่าการเสริมทัพด้วยปัจจัยด้านเครื่องจักรและอุตสาหกรรมจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทางฟาร์มเฮ้าส์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การอบรมและพัฒนาพนักงาน ก็เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป เนื่องจากในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตเช่นนี้ การช่วยเสริมส่งกำลังคนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะทำให้สินค้าที่ผลิตออกมา โดยเฉพาะสินค้าบริโภค อย่าง “ขนมปัง” มีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2568 อภิเศรษฐ มองว่า ฟาร์มเฮ้าส์จะต้องมีเป้ารายได้เติบโต 7-10% และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 68 จะได้แรงหนุนจากการเปิดภาคการศึกษา ทำให้กลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่ถือเป็นกลุ่มบริโภคหลักมาซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมตลาดขนมปังในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศยังเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามากระตุ้นการตัดสินใจใช้จ่ายของผู้บริโภค เช่นเดียวกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ฟาร์มเฮ้าส์จึงมองว่า สิ่งที่เราทำได้ คือ การไม่หยุดพัฒนา เพื่อต้านรับในทุก ๆ ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
อ่านข่าวธุรกิจและการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้