“ชีวาศรม หัวหิน” ครบรอบ 30 ปี เตรียมเปิดนวัตกรรมใหม่ให้บริการ ดูแลสุขภาพและความสมดุล ตั้งบริษัทผลิตบุคลากรตั้งแต่ผู้จัดการสปาไปจนถึงเธอราปีส ป้อนให้โรงแรม รีสอร์ตเพื่อสุขภาพเป็นการเฉพาะ ชี้เธอราปีส ไทยฝีมืออันดับ 1 เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ประเทศไทยยังมีโอกาสสูงมากในตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นายกฤป โรจนเสถียร ประธานและประธานบริหารของชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท ให้สัมภาษณ์พิเศษในโอกาส “ชีวาศรม หัวหิน” รีสอร์ตสปามาตรฐานระดับโลกที่ผสมผสานสุขภาพและความสมดุล ครบ 3 ทศวรรษ หรือครบรอบ 30 ปี ในวันที่ 19 เม.ย.2568 ว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของตลาดไทยได้เติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากในปี 2556 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประเมินขนาดของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ (Wellness & Medical Tourism Market) ของไทยไว้ที่ 967 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32,780 ล้านบาท
“10 ปีต่อมา ในปี 2566 สถาบันสุขภาพโลก หรือ Global Wellness Institute ได้ประเมินขนาดของตลาดนี้ไว้ที่ 12,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 418,326 ล้านบาท เป็นการเติบโตถึง 1,276.11% ในระยะ 10 ปี และแน่นอนว่าไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก เพราะมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ของโลกอยู่ที่ 830,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 28 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบแล้วไทยยังมีสัดส่วนเพียง 1.49% ของตลาดโลกเท่านั้น”
ทั้งนี้ ส่วนแบ่งการตลาดดังกล่าวยังสะท้อนด้วยว่าที่ประเทศไทยเคยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ดูยังห่างไกลอยู่ ทั้งๆที่คนไทยมีศักยภาพ ใครๆก็อยากมาใช้บริการกับ Thai Therapist หรือนักบำบัดคนไทย จึงน่าเสียดายโอกาส
นายกฤปได้นำเสนอปัจจัยบวกสำหรับประเทศไทย ว่า นักท่องเที่ยวแสวงหาการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำและมีชื่อเสียงด้านให้บริการด้านสุขภาพอยู่แล้ว มีความนุ่มนวล สง่างามและจริงใจ แต่ความท้าทายคือ ตอนนี้มีคู่แข่งเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะทางซีก โลกตะวันออก มีการขาดแคลนบุคลากรระดับมาตรฐาน และมีความล่าช้าในการพัฒนาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การประหยัดการใช้พลังงาน การลดปริมาณและจัดเก็บขยะ และอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ
“ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ชีวาศรมจะมีนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และปีนี้จะเปิดบริษัทฝึกอบรมเธอราปีส พนักงานนวด ไปจนถึงผู้จัดการสปา เพิ่มเติมจากที่เรามีชีวาศรม อคาเดมี ที่ผลิตบุคลากรป้อนของเราเอง ส่วนที่จะทำขึ้นมาเพิ่มจะสามารถผลิตบุคลากรป้อนให้กับโรงแรมหรือรีสอร์ตที่เน้นเรื่องให้บริการทางสุขภาพได้แบบครบวงจร รายได้ของเธอราปีส เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทยังไม่รวมเซอร์วิส ชาร์จที่ได้เพิ่มเติม เชื่อว่าการเติบโตของธุรกิจนี้ไม่หยุดยั้ง เพราะในต่างประเทศก็โตทั้งในยุโรปและตะวันออก กลางเอาคนของเราไปก็เยอะ เพราะเธอราปีสคนไทยถือเป็นอันดับหนึ่งของโลก หรืออย่างประเทศเวียดนามก็เติบโตอย่างรวดเร็ว”
ขณะเดียวกัน ได้ผลักดันสินค้าที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในโลกของเวลเนส แต่ตอบสนองความต้องการของตลาดและสังคมโดยรวม นั่นคือ Family Wellness การดูแลสุขภาพทั้งครอบครัว เป็นการลดช่องว่างระหว่างวัยของคนในครอบครัว อันเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆในสังคม ตั้งแต่ความห่างเหินของผู้ปกครองจากลูกซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจนถึงการแสดงออกที่รุนแรงในรูปการทำร้ายผู้อื่น อันเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ
“เราได้เปิดตัว Family Well ness ไปแล้ว ณ รีสอร์ตที่สอง คือ Zulal Wellness Resort by Chiva-Som (ซูลาล เวลเนส รีสอร์ต โดยชีวาศรม) ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวตะวันออกกลาง ว่าตอบโจทย์ของเขาและเป็นมิติใหม่ของเวลเนส ส่วนที่ชีวาศรม หัวหิน รีสอร์ท นั้น พื้นที่ไม่ได้กว้างเหมือนที่ประเทศกาตาร์ จึงต้อนรับแขกที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป”
นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ชีวาศรม หัวหิน ช่วงเดือน เม.ย.นี้ ลูกค้าที่เข้าพัก 3 คืน มีราคาพิเศษจ่ายเพียง 2 คืน เริ่มต้น 62,000 บาทต่อคน สำหรับการพัก 2 คน เฉพาะวันที่ 19 เม.ย.2568 มีอาหารเย็นมื้อพิเศษจากการสร้างสรรค์ของเชฟที่หัวหินเองและเชฟที่บินตรงมาจาก Zulal เพื่อสะท้อนการพัฒนาล่าสุดของ Chiva-Som Wellness Cuisine
นายกฤปยังได้แสดงความเห็นในกรณีที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดระยะเวลาให้วีซ่าแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ จาก 60 วัน เป็น 30 วัน เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ว่า จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวเวลเนส ที่ต้องการเวลาที่จะบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงสุขภาพ ซึ่งโดยปกติอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน หรือมากกว่านั้น หากถูกจำกัดเวลาก็อาจไม่เป็นที่พึงพอใจแน่นอน และอาจเบนเข็มสู่ประเทศอื่นที่มีเงื่อนไขเหมาะสมกว่า โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวเวลเนสถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ หรือที่เรียกได้ว่า High Value, Low Impact Visitor (HVLIV) มีการใช้จ่ายสูง แต่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการสูญเสียทรัพยากรของเราค่อนข้างน้อย จึงอยากให้รัฐบาลมุ่งเน้นการดูแลนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม