ใครจะไปคิดว่า…จากจุดเริ่มต้นของร้านซูชิคำละ 10 บาท ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 อย่าง “ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล” และ “ชนวีร์ หอมเตย” ในขณะนั้น จะกลายมาเป็น บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแบรนด์ร้านซูชิที่ฮิตติดลมบนอย่าง “Shinkanzen Sushi” ในวันนี้ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนสามารถดึงดูด “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป” หรือ CRG ทุ่มทุน 520 ล้านบาท เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 51% เมื่อพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา พร้อมการขยายการเติบโตให้กับแบรนด์ไปแล้วรวมกว่า 4 แบรนด์
ปัจจุบัน บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด เชนร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ยอดนิยมของประเทศไทย ที่ไม่ได้มีเพียง ชินคันเซ็น ซูชิ (Shinkanzen Sushi) ร้านอาหารญี่ปุ่นที่โดดเด่นด้วยคุณภาพของอาหารในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย เพียงอย่างเดียว แต่มีการเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอด้วย 2 แบรนด์ใหม่ เพื่อสร้างการเติบโต ได้แก่
รวมทั้งยังมี “นักล่าหมูกระทะ” ร้านหมูกระทะในห้องแอร์ ที่เปิดสาขาแรกในห้าง MBK Center แก้ปัญหาความร้อนและกลิ่นควันติดตัว ด้วยการติดแอร์ และฮู้ดดูดควัน รวมถึงบริการฟรีบาร์ผัก และน้ำจิ้มที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกทานได้ไม่อั้น เปิดให้บริการยาวถึงตี 2 ตอบโจทย์ลูกค้าสายนอนดึก ซึ่งเปิดไปเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
ชนวีร์ หอมเตย และ ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยภาพรวมธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในปี 2567 ที่ผ่านมา ว่า มีความท้าทายจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น อย่างเช่น ราคาปลาแซลมอน ที่มีการปรับขึ้นราคามาแล้วกว่า 40% ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าปี 2568 จะมีการปรับราคาขึ้นอีก 10% โดยบริษัทฯ มีการนำเข้าปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ ประมาณ 2,000 ตัว ต่อสัปดาห์ และใช้แซลมอน 10,000 ตัวต่อเดือน
“เรายังคงต้องระมัดระวังในเรื่องของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ ราคาวัตถุดิบที่ยังคงผันผวน จึงต้องมีกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้าทั้งเรื่องของการทำโปรโมชัน เช่น ในช่วงเวลาที่ลูกค้าน้อย จะมีการลด 20-30% และการ Collaboration”
รวมทั้งการแข่งขันระหว่างร้านอาหารที่สูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้กำลังการซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่บริษัทฯ ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า โดยสามารถปิดรายได้รวมได้ถึง 2,100 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 50% ในปี 2567 ด้วยการนำเสนอเมนูที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
ชนวีร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาพรวมตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยปี 2568 มีการคาดการณ์ว่ายังมีแนวโน้มเติบโตที่ดี ซึ่งเทรนด์การบริโภคอาหารญี่ปุ่นในไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนิยมเป็นอาหารญี่ปุ่นที่ขายประเภทเดียว เช่น ร้านที่มีไม่เกิน 2-3 เมนู
ซึ่ง เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป มุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยให้เติบโต สร้างความประทับใจ และประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า พร้อมมุ่งสู่การเติบโตที่แข็งแกร่งด้วยกลยุทธ์ผลักดันการเติบโตตามเป้าหมาย อาทิ ลุยขยายสาขาเพิ่ม 16 สาขา โดยเน้นไปที่นักล่าหมูกระทะ ที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 12 สาขา เป็น 40 สาขา
รวมทั้ง คัตสึมิโดริ ซูชิ ร้านซูชิสายพานอันดับ 1 จากโตเกียว โดยตั้งเป้าว่าภายใน 2-3 ปี แบรนด์จะเติบโต และสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง มีขยายสาขาเพิ่มขึ้นปีละ 1-2 สาขาต่อปี เน้นพื้นที่ในโซนกรุงเทพฯ เป็นหลัก เพื่อเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น และก้าวขึ้นเป็น Top of Mind ของร้านซูชิสายพานในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนารูปแบบการบริการร้าน นามะ เจแปนนิส ซีฟู้ด แอนด์ บุฟเฟ่ต์ ด้วยการขยายพื้นที่ขายโซนเอ้าท์ดอร์ (Outdoor) เพิ่มเติม พร้อมเปิดบริการในรูปแบบอิซากายะ (Izakaya)
สำหรับแบรนด์ ชินคันเซ็น ซูชิ ปัจจุบันมี 57 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่วนในอนาคตตั้งเป้าที่จะมีครบ 100 สาขาทุกจังหวัด ทำให้ปัจจุบันแบรนด์ในพอร์ตทั้งหมดมี 4 แบรนด์ รวม 70 สาขา
ขณะที่สัดส่วนรายได้ปี 2567 ที่ผ่านมา ของแต่ละแบรนด์ มีดังนี้
สำหรับในปี 2568 ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ไว้ ดังนี้ ชินคันเซ็น ซูชิ 65% นักล่าหมูกระทะ 20% นามะ เจแปนนิสฯ 5% และ คัตสึมิโดริ ซูชิ 10%
ขณะที่เป้าหมายรายได้ปี 2568 ตั้งเป้าไว้ที่ 2,800 ล้านบาท เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ส่วนในระยะยาว 5 ปี ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท
โดยการที่จะทำให้ถึงเป้าหมายได้นั้น ศุภณัฐ ชี้ว่า จะต้องมีการเพิ่มช่องทางการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ เช่น Shopee, Lazada, TikTok Shop, Line My Shop ที่ช่วยให้ขายสินค้าได้ง่าย รองรับพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ ที่ชอบความสะดวก สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านแคมเปญดึงดูดต่าง ๆ เช่น ส่วนลดสินค้าใหม่ หรือแจกคูปองดีลพิเศษในช่วงมหกรรมลดราคาวันพิเศษ เช่น 9.9 / 10.10 เป็นต้น
หรือแม้กระทั่งการทำระบบสมาชิก (Loyalty Program) เพื่อสร้างฐานลูกค้าประจำ ซึ่งแบรนด์มองว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ด้วยแต้มสะสม และสิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิก เช่น ส่วนลด หรือโปรโมชั่นเฉพาะสมาชิก
พร้อมจับกระแสสร้าง Mascot Branding ด้วยแบรนด์นักล่าหมูกระทะ และ คัตสึมิโดริ ซูชิ มีแมสคอตที่ Represent ตัวตนของแบรนด์กับ นักล่าหมูกระทะ มี “น้องหมูน้อย” ที่มีบุคลิกซุกซน ทำให้แบรนด์ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น และ คัตสึมิโดริ ซูชิ มีตัวแทนแบรนด์คือ “คัตสึคุง” เชฟหมีจากญี่ปุ่น เพื่อสร้างการจดจำ โดยมีแผนต่อยอดจัดทำ Souvenir อาทิ พวงกุญแจ ตุ๊กตา ของที่ระลึกต่าง หรือกล่องสุ่ม เข้ามาเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ และเพิ่มการรับรู้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังวางกลยุทธ์การร่วม Collaboration กับแบรนด์ชั้นนำหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Bearhouse ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่สดใหม่ และน่าตื่นเต้น ตลอดจนสร้างกระแสในตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง
“เราความตั้งใจที่จะส่งมอบอาหารที่ดีมีคุณภาพ ในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ โดยเป้าหมายระยะยาว ตั้งเป้าการขยายสาขาแบรนด์ ชินคันเซ็น ซูชิ จะเน้นการเปิดสาขาไปต่างจังหวัดมากขึ้น ส่วน แบรนด์นักล่าหมูกระทะ ในช่วงปีนี้จะยังเน้นขยายในโซนกรุงเทพเป็นหลัก และยังคงมองหาโอกาสการขยายตลาดใหม่สู่ต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งภาพรวมของ 2 แบรนด์นี้วางแผนว่าจะขยายสาขาให้ได้ทั่วประเทศ รวมทั้งบริษัทจะใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาใหม่ และเพิ่มกำลังผลิตครัวกลางในเฟสที่ 3 เพิ่มอีก 40% เนื่องจากเรามีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทย ทั้งในแง่จำนวนสาขา และรายได้ ปัจจุบันเราอยู่ใน Top 5 สำหรับมูลค่าตลาดอาหารญี่ปุ่นในปี 2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท” ศุภณัฐ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney