เปิดขุมพลังธุรกิจใหม่ ปตท. นับถอยหลังยุคน้ำมันเฟื่องฟูก้าวสู่โลกอนาคต

Business & Marketing

Marketing & Trends

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดขุมพลังธุรกิจใหม่ ปตท. นับถอยหลังยุคน้ำมันเฟื่องฟูก้าวสู่โลกอนาคต

Date Time: 5 ก.ย. 2565 05:33 น.

Summary

  • “หลังจากที่ทุกคนในโลกจมดิ่งอยู่ในยุคมืดของวิกฤติโควิด-19 มานานกว่า 3 ปี วันนี้โลกของเรา โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “ยุคเปลี่ยนผ่าน” ทั้งทางด้านกายภาพ และเทคโนโลยี

Latest

เทรนด์ธุรกิจร้านอาหาร จากกำลังซื้อถดถอย สู่แข่งขันด้วยประสบการณ์

“หลังจากที่ทุกคนในโลกจมดิ่งอยู่ในยุคมืดของวิกฤติโควิด-19 มานานกว่า 3 ปี วันนี้โลกของเรา โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “ยุคเปลี่ยนผ่าน” ทั้งทางด้านกายภาพ และเทคโนโลยี เตรียมเข้าสู่แสงสว่างของการฟื้นตัวอีกครั้ง

และผู้ที่จะกุมความสำเร็จในบริบทใหม่นี้ได้ คือ ผู้สามารถสะสมพลัง สะสมความรู้ใหม่ๆ ปรับตัว ปรับแนวคิด ก้าวข้ามสู่ “เศรษฐกิจในยุคปกติใหม่ หรือ New Normal” ได้เร็วกว่าคนอื่น

ซึ่งในความจริง “ยุคเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจ” เกิดขึ้นมาก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ ในยุคที่ “นวัตกรรม และเทคโนโลยี” พยายามมีบทบาทแทนที่ “อุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม” ที่อุ้ยอ้าย ขยายตัวช้า ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้การเกิด Digital Disruption ที่เร็วและแรงขึ้น เร่งรัดให้ธุรกิจที่มีศักยภาพปรับตัวเข้าสู่ New S-Curve หรืออุตสาหกรรมใหม่มากขึ้น รวมทั้งเป็น “จุดเปลี่ยน” พฤติกรรมการใช้ชีวิต การบริโภคของคนทั่วโลก

และยิ่งมาถึงยุค “วิกฤติน้ำมันและพลังงาน” ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องปี 2565 ซึ่งทำให้ทั่วโลกได้รู้ซึ้งถึงความปั่นป่วนที่แท้จริง เพราะสถานการณ์ความผันผวนของพลังงานในรอบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ “ราคาสูงอย่างรวดเร็ว” กดดันค่าครองชีพให้สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกิดภาวะขาดแคลนพลังงาน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงานของโลก

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ธุรกิจยักษ์ใหญ่และผู้นำด้านพลังงานของไทย ได้ตระหนักถึงยุคแห่ง “การเปลี่ยนผ่าน” ดังกล่าว และพร้อมเดินหน้าปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้าสู่โลกยุคใหม่ ทั้งการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น และบทบาทใหม่ในฐานะหนึ่งในทัพหน้าของธุรกิจไทยที่ก้าวเข้าไปสู่ New S-Curve ซึ่งจะเป็นรากฐานใหม่ของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดเงินทุนใหม่จากต่างประเทศ

“อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า “เมื่อปลายปี 2564 ปตท.ได้ปรับทิศทางของธุรกิจครั้งใหญ่ ตามการปรับเปลี่ยนแนวคิดหลักของการดำเนินธุรกิจ จากเดิมที่ ปตท.เน้นสร้าง “ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ” เป็นหลัก

เป็นแนวคิดใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond หรือการขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังอนาคต” โดยก้าวสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งถือเป็นพลังงานแห่งอนาคต และการเข้าสู่อุตสาหกรรมอนาคตอีก 5 สาขา เพื่อใช้นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์สร้างความเป็นอยู่ที่ดีของ “คน ชุมชนและสังคมไทย”

และเพื่อตอกย้ำก้าวย่างใหม่ให้น่าสนใจมากขึ้น เมื่อวันที่ 22-28 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้บริหาร ปตท.พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ โดยภารกิจสำคัญของการเดินทางในครั้งนี้ คือ ความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำทางด้านอาหารสุขภาพของอังกฤษที่จะนำมาต่อยอดความเป็นผู้นำในอาหารและโภชนาการดูแลสุขภาพในไทย

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้ติดตามแนวทางการเปลี่ยนผ่านธุรกิจในภาพรวมของ ปตท.ว่า มีทิศทางอย่างไร และเห็นโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะข้ามไปสู่ “ธุรกิจพลังงานอนาคต” ระดับโลก มาเล่าให้ฟัง

จบยุค “เชื้อเพลิงฟอสซิล”

เริ่มต้นจากสถานการณ์ด้านพลังงานของโลก ทั้งนี้ จากการประเมินภาพของ ปตท.พบว่า ทิศทางการใช้เชื้อเพลิงของโลกกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยคาดว่ายุคของเชื้อเพลิงฟอสซิลจะจบลงและเข้าสู่พลังงานสะอาดอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ.2583

สำหรับการใช้ “เชื้อเพลิงจากถ่านหิน” นั้น จริงๆแล้วหมดยุคไปตั้งแต่ปี 2558 แต่ในขณะนี้ที่เห็นการนำกลับมาใช้ในยุโรปบ้าง เป็นกรณีชั่วคราวในช่วงที่เกิดการขาดแคลนน้ำมันในช่วงสงครามยูเครน-รัสเซียเท่านั้น

ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่า ราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงปีหน้ายังคงอยู่ในระดับสูง และน้ำมันจะยังเป็นพลังงานหลักของโลกต่อไปอีกระยะ จนถึงปี 2575 หรือ 10 ปีข้างหน้าที่จะเข้าสู่ช่วงสูงสุด จากนั้นปริมาณการใช้จะทยอยลดลง

ขณะที่ “ก๊าซธรรมชาติ” จะเป็น “เชื้อเพลิงหลักในยุคเปลี่ยนผ่าน” เพราะก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดที่สุดในขณะนี้ ทำให้คาดว่าจะยังมีความต้องการใช้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2583 หรือประมาณ 18 ปีข้างหน้า แต่ในที่สุด การใช้พลังงานของโลกจะเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด ภายใต้หลัก Go Green และ Go Electric”

“ดังนั้น การปรับเปลี่ยนในส่วนแรกของ ปตท.จึงเป็นการหาพลังงานใหม่ๆ ให้กับประเทศ ตามพันธกิจด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ซึ่งเราจะยังทำต่อไป ภายใต้แนวคิดการปรับเปลี่ยนไปสู่ Future Energy and Beyond โดยแม้ว่าวันนี้เรายังอยู่ที่เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ช่วงที่ผ่านมาเราได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงพลังงานจากไฮโดรเจน

เรายังเดินหน้าสู่การผลิตรถไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงานสำรอง โรงงานแบตเตอรี่ และจะต่อยอดไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่ปรึกษาที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น” นายอรรถพลกล่าว

ปรับทัพสู่ “5 ธุรกิจอนาคต”

ขณะเดียวกัน พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน แนวโน้มของอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนจำนวนมากและแรงงานคนสูง กำลังถึงทางแยกที่สำคัญ จากการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ที่ทำได้ยากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลทั่วโลกประกาศนโยบายดูแลสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในอากาศ

“ธุรกิจอนาคต” ที่ ปตท.มองไว้ จึงเป็นมากกว่าการวางฐานใหม่ที่จะช่วยให้เกิดรายได้ที่สูงขึ้น และยกระดับธุรกิจดั้งเดิมเท่านั้น เพราะอีกบทบาทที่ ปตท.วางไว้คือ การเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่ New S-Curve ทำให้ต่างชาติเห็นว่าเรามีบริษัทดีๆที่น่าลงทุน ซึ่งจะช่วยส่งผ่านทั้งทุนและเทคโนโลยีจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ

ทั้งนี้ ภายใต้คำจำกัดความของ Beyond ปตท.ได้ลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม เทคโนโลยีระดับสูง รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลใน 5 สาขา รองรับการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของคนไทย และคนทั่วโลกที่เปลี่ยนไป

แบ่งเป็น 1.Life Science หรือการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ ผ่านเป็นการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยาที่ทันสมัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ ธุรกิจอาหารและโภชนาการ รวมไปถึงการใช้ DNA หรือสารพันธุกรรมในการรักษา และป้องกันโรค และเราคงเคยได้ยิน “สารสกัดมณีแดง” ซึ่งเป็นที่ฮือฮากันในขณะนี้

2.Mobility and Lifestyle โดยในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับเปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ให้ตอบรับกับไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมใหม่ของคนไทยมากขึ้น และ ปตท.จะยังร่วมมือกับพันธมิตรทั้งรายเดิมและรายใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้นในอนาคต

3.High Value Business ต่อยอดธุรกิจมูลค่าสูง เช่น ปิโตรเคมีขั้นสูง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสิ่งแวดล้อม

4.Logistics and Infrastructure โดยร่วมมือทั้งกับภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศ

และท้ายที่สุด 5. การลงทุนในเทคโนโลยี AI, Robotics, and Digitalization การเข้าสู่ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การผลิตจักรกลอัจฉริยะ หุ่นยนต์และโดรน ซึ่งจะช่วยตอบสนองอุตสาหกรรมในโลกดิจิทัล รวมทั้งสามารถนำมาใช้เพื่อการต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจดั้งเดิมของ ปตท.ได้อีกด้วย

“การลงทุนในธุรกิจใหม่เหล่านี้ ปตท.ให้ความสำคัญควบคู่ไปกับธุรกิจเดิม โดยในแผน 5 ปี ซึ่งมีงบลงทุนอยู่ที่ 146,000 ล้านบาท การลงทุนในส่วนนี้จะอยู่ที่ 30% ของวงเงินลงทุนรวม หรือคิดเป็นประมาณ 50,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีงบลงทุนที่เผื่อไว้หากมีธุรกิจที่น่าสนใจอีก 190,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาลงทุนเพิ่มได้

ส่วนการตั้งเป้าหมายความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้ ปตท.ตั้งเป้าไว้ในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือปี 2573 ว่า จะกลายเป็นอีกกลไกสำคัญที่ทำรายได้เพิ่มให้กับ ปตท. ในสัดส่วน 30% หรือมากกว่าของรายได้รวม”

เปิดประสบการณ์ “อาหารจากพืช”

ขณะที่ “ไฮไลต์” ของการเดินทางไปประเทศอังกฤษของผู้บริหาร ปตท.ในครั้งนี้ คือ การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้รูปแบบใหม่ให้กับประเทศไทย รวมทั้งการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับประทาน “อาหารจากพืช” หรือ Plant-Based 100% ที่สามารถให้รสชาติที่อร่อยได้ไม่แพ้อาหารที่ทำจากสัตว์

นอกจากนั้น กระแสของการต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ และกระบวนการเลี้ยงสัตว์ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และปริมาณก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งกระแสการรักสุขภาพ และการทานอาหารเป็นยา หลังยุคการระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่เข้มแข็งมากขึ้นทั่วโลก

ปตท.โดย บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน (NRPT) จึงได้จับมือกับ Wicked Kitchen ซึ่งเป็นแบรนด์อาหารแพลนต์เบส 100% ระดับโลก ที่เน้นรสชาติอาหารที่ผ่านการคิดค้นจากเชฟผู้ก่อตั้งแบรนด์ 2 พี่น้อง Derek และ Chad ซึ่งแบรนด์ Wicked Kitchen ทำมาจากพืช 100% ทั้งวัตถุดิบและเครื่องปรุงทุกชนิด ได้รับความนิยมสูงมากในอังกฤษและอเมริกา โดยมีผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารหลัก อาหารทานเล่น เบเกอรี และที่เด็ดสุดคือ ไอศกรีม

โดยในเดือน ก.ย.นี้ เอ็นอาร์พีที จะนำผลิตภัณฑ์อาหาร ขนม รวมทั้งไอศกรีม รวมทั้งสิ้น 17 ชนิดมาให้คนไทยได้เปิดประสบการณ์ “อาหารจากพืช” ที่มีรสชาติอร่อย ได้รับสุขภาพที่ดีและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมกับเครือเซ็นทรัล จำหน่ายผ่านทางท็อปส์ มาร์เก็ต และเซ็นทรัล ฟู้ดฮอลล์ และมีแผนจะเพิ่มเป็น 30 ชนิดในเดือน ธ.ค.

ขณะเดียวกัน ยังจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชแบรนด์ “alt” ซึ่งเป็นแบรนด์ของ ปตท.เอง รวมทั้งเพิ่มเมนูอาหารจากพืช ผ่านร้าน Texas Chicken ด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายของ ปตท.คือ ทุกคน ทั้งคนรุ่นเก่าที่ต้องควบคุมอาหาร คนที่กินมังสวิรัติในบางวันเพื่อสร้างบุญกุศล รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อว่า รสชาติที่อร่อยจะทำให้คนไทยหันมาสนใจ “อาหารจากพืช” ได้มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเข้าสู่ธุรกิจ “อาหารอนาคต” ที่ครบวงจร ในการมาอังกฤษครั้งนี้ “เอ็นอาร์พีที” ยังได้ร่วมมือกับบริษัท Plant & Bean ซึ่งเป็นบริษัทผลิตโปรตีนจากพืช 100% ที่ประสบความสำเร็จในประเทศอังกฤษ ลงทุนจัดตั้ง “โรงงานโปรตีนจากพืชในไทย”

โดย Plant & Bean ประเทศอังกฤษ จะถือหุ้นในโรงงานในไทย 49% และ “เอ็นอาร์พีที” จะถือหุ้น 51% โดยจะเริ่มก่อสร้างในช่วงกลางปีหน้า ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา และใช้เวลาการก่อสร้าง 2 ปี มีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ในประเทศ 50-60% และส่งออก 40-50%

“เดิม Plant & Bean ตั้งเป้าขยายโรงงานไปประเทศจีน เพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบ แต่เมื่อ ปตท.ได้เสนอให้ตั้งโรงงานในไทย และนำเสนอความเป็นไปได้ของพืชเกษตรไทย โดยเฉพาะถั่วเขียว ที่ทำเลียนแบบไข่ได้ดี ทำให้เขาเห็นศักยภาพ และตัดสินใจร่วมทุนกับเรา ซึ่งนอกเหนือจากเราจะได้เทคโนโลยีการผลิตแล้ว ยังจะเป็นโอกาสช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยขายได้ในราคาที่สูงขึ้น รวมทั้งสามารถวิจัยและพัฒนาพืชเกษตรใหม่ๆ ของไทยให้มีโอกาสทางการค้าเพิ่มขึ้นด้วย” บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ปตท.กล่าว

มุ่งสู่บริษัทพลังงานข้ามชาติ

ท้ายที่สุด เพื่อให้เห็นว่า ปตท.มีโอกาส และความเป็นไปได้ที่จะยกระดับสู่บริษัทพลังงานข้ามชาติที่แข็งแกร่ง ตอบโจทย์ธุรกิจพลังงานอนาคต และอุตสาหกรรมอนาคตมากน้อยแค่ไหน นายอรรถพล ให้ความเชื่อมั่นว่า “ด้วยความสามารถของคน และความมุ่งมั่นของ ปตท.จะทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ประสบความสำเร็จได้ เหมือนที่เคยได้เห็นในปี 2527 ที่ผ่านมา ซึ่ง ปตท.เริ่มเข้าสู่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจปิโตรเคมี และครั้งนี้เราจะเติบโตต่อไป”

ขณะเดียวกัน บทวิจัยจาก Bloomberg New Energy Finance หรือย่อว่า BloombergNEF ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านพลังงาน และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้ไปเยือนในทริปนี้ ได้ให้มุมมองทิศทางพลังงานของโลกในอนาคตไว้ด้วย โดยระบุว่า วันนี้รัฐบาลส่วนใหญ่ของโลกเห็นด้วยและตั้งเป้าหมายจะเข้าสู่ “พลังงานสะอาด” โดย 80% ของประเทศทั่วโลกลงทุนในพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นในปี 2565 นี้ ขณะที่จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าถูกผลิตและจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นๆอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ในปี 2564 เม็ดเงินลงทุนทั่วโลกที่ใช้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดสูงถึง 755,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2.6 ล้านล้านบาท (35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) และคาดว่าหากต้องการไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอน 0% ก่อนปี 2573 ทั่วโลกจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านเหรียญฯ หรือ 14 ล้านล้านบาท

“บริษัทน้ำมันและก๊าซทั่วโลก” กำลังปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งการเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆในการเติบโตของธุรกิจ ซึ่ง ปตท.เป็นหนึ่งในนั้น และล่าสุดการจัดอันดับ BNEF transition scores ซึ่งทำกับบริษัทน้ำมันและก๊าซ 41 แห่งทั่วโลกที่กำลังปรับตัวสู่พลังงานสะอาด ปตท.อยู่ในอันดับที่ 10 จาก 41 บริษัทดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 8 อันดับ

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นเป้าหมาย และทิศทางธุรกิจในอนาคตของ ปตท.ที่จะรักษา “ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ” ด้วยพลังงานอนาคต รวมทั้งการก้าวสู่ธุรกิจเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ที่อาจจะไม่คุ้นเคย แต่เชื่อมั่นว่าจะเป็นรากฐานใหม่ที่มั่นคงมากขึ้นของ ปตท.และของประเทศ.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ