กวดจี๋เคลียร์โควิดพ้นโรงงาน ลุยผลิตสินค้ารับออเดอร์พุ่งไตรมาส 3

Business & Marketing

Marketing & Trends

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กวดจี๋เคลียร์โควิดพ้นโรงงาน ลุยผลิตสินค้ารับออเดอร์พุ่งไตรมาส 3

Date Time: 12 มิ.ย. 2564 05:45 น.

Summary

  • “สุริยะ” ขู่ปิดโรงงานหากมีความเสี่ยงแล้วไม่รับผิดชอบ ย้ำต้องดูแลภาคอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตสินค้าได้เต็มที่ รับออเดอร์ส่งออกขยายตัว 10% ในไตรมาส 3

Latest

"วาที วิเชียรนิตย์" เพราะ "คิดใหญ่" ส่งรองเท้าแตะวิ่งมาราธอนไทย Ving ไปไกลทั่วโลก

“สุริยะ” ขู่ปิดโรงงานหากมีความเสี่ยงแล้วไม่รับผิดชอบ ย้ำต้องดูแลภาคอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตสินค้าได้เต็มที่ รับออเดอร์ส่งออกขยายตัว 10% ในไตรมาส 3 ด้าน “สุชาติ” ลั่นภายใน ส.ค.ฉีดวัคซีนผู้ประกันตน ม.33 ทั่วประเทศครบจบ 11 ล้านคน ด้านโพลสำรวจพบประชาชนสับสนจองวัคซีนผ่านแอปฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้จัดประชุมร่วมกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ถึงมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศเทศไทย นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กนอ.) และนางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุม

โดยนายสุริยะ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ว่าด้วยหลักการออนไลน์-ออนไซต์-อัปเกรด-วัคซีน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้โรงงานทั่วประเทศ 64,000 แห่ง จำนวนแรงงานรวม 3.3 ล้านราย ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ไทย สต็อป โควิด พลัส ทุกๆสองสัปดาห์ และให้พนักงานประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มไทยเซฟไทย ก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกครั้ง โดยตั้งเป้าให้โรงงาน 3,300 แห่ง มีแรงงานรวม 1.9 ล้านคน ดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.64 โดยขณะนี้มีโรงงานส่งแบบประเมินแล้ว 1,722 แห่ง

ทั้งนี้ หากพบว่าโรงงานใดที่มีความเสี่ยงแต่ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนดจนเกิดการระบาด อาจพิจารณาใช้กฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สั่งปิดโรงงานที่ทำผิดซ้ำซาก ขณะที่การฉีดวัคซีนให้ภาคอุตสาหกรรมนั้น ตนจะเร่งดำเนินการ โดย กนอ. และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะเร่งจัดตั้งศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม, เขตประกอบการอุตสาหกรรม, สวนอุตสาหกรรม และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงานมากกว่า 2,000 คน รวม 27 แห่ง อาทิ นิคมฯสินสาคร นิคมฯสมุทรสาคร นิคมฯอมตะซิตี้ (ชลบุรี) นิคมฯมาบตาพุด นิคมฯบางกะดี โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการเร่งฉีดวัคซีน และดูแลภาคอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตสินค้าได้เต็มที่เพื่อรองรับออเดอร์ที่จะเข้ามาปริมาณมากในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) และไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) จากตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ที่คำสั่งซื้อขยายตัวมากกว่า 10%

ขณะเดียวกัน นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับ
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีจำนวน 11 ล้านคน ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ จากแผนงาน 3 ส่วน แบ่งเป็น เดือน มิ.ย.ฉีดในกรุงเทพมหานคร เดือน ก.ค. ใน 11 จังหวัดสีแดงเข้มและจังหวัดปริมณฑล และสิงหาคม จะปูพรมฉีด 65 จังหวัดที่เหลือ โดยแรงงานในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะมีประมาณ 3 ล้านคน กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม, กนอ. และภาคเอกชน ดำเนินการกระจายวัคซีนให้กับแรงงานในนิคมฯ และโรงงานนอกนิคมฯ เพื่อคงสถานะการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก เพื่อให้มีผลการขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจไทย

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำข้อเสนอถึงรัฐบาลประกอบผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เรื่องวัคซีน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอส พบว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเรื่องของวัคซีนมีความสอดคล้องกับเรื่องทีประชาชนยื่นร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านช่องทางการรับเรื่องร้องทุกข์โดยประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของวัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดหา

อีกทั้งการจัดหาวัคซีนมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการเปลี่ยนแปลงวิธีการและแนวทางในการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึงการนำเสนอข่าวเชิงลบและผลข้างเคียงของวัคซีน มีผลต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถสกัดกั้นข่าวปลอมและไม่มีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาดและรวดเร็ว อีกทั้งการอนุมัติอนุญาตวัคซีนทางเลือกมีความล่าช้า จนทำให้ประชาชนกังวลถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินการอีกด้วยและมีข้อเสนอให้รัฐควรเพิ่มการสนับสนุนและผลักดันการวิจัยวัคซีนคนไทย คือวัคซีนจุฬา (ChulaCov19) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา หากประสบความสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอใช้ได้เอง พร้อมทั้งกระจายให้ประเทศอื่น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ