แบงก์กรุงไทย จ่อตั้ง สำรองหนี้ “บินไทย” เต็มจำนวนกว่า 6 พันล้านบาทภายในไตรมาส 2 เร่งช่วยลูกค้า–ลดหนี้เสียไม่ให้พุ่งจนรับไม่ไหว ด้าน “พีระพันธุ์” ระบุบินไทยพร้อมกลับมาให้บริการตลอดเวลา แต่หากบินต้องคุ้มค่า แต่ยังไม่ฟันธงกลับมาบินต่างประเทศ 1 ส.ค. ตามแผนได้หรือไม่เพราะโควิดยังแรง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดตัวโครงการ In-CAR Fast & Trust Experiences ให้ลูกค้านำบัตรเดบิต บัตรเครดิต และการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของทุกธนาคารชำระค่าบริการน้ำมันขณะนั่งอยู่ภายในรถยนต์ได้ โดยนำร่องที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก สาขาสุขุมวิท 62 และศรีนครินทร์ 1 และจะขยายครบทุกสถานีในปีนี้
นายผยง ยังได้กล่าวถึงการให้สินเชื่อกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่ผ่านมาด้วยว่า คงต้องรอแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลพิจารณาจะออกมาอย่างไรก่อน เพราะธนาคารต้องการการบินไทยให้กับมาแข็งแรง โดยสินเชื่อที่ปล่อยไปนั้น ในงบการเงินของการบินไทยปี 62 ระบุมีสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารได้มีการตั้งสำรองหนี้จัดชั้นไปแล้วบางส่วน และในไตรมาส 2 นี้ ธนาคารจะต้องตั้งสำรองหนี้ครบ 100% ขณะเดียวกัน ธนาคารมีรายได้จากการแก้หนี้เข้ามาใกล้เคียงกับสำรองหนี้ของการบินไทย
สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ต้องทำความเข้าใจธุรกิจของลูกค้าที่ประสบปัญหาซึ่งมีความแตกต่างกันไป คนที่เดือดร้อนธนาคารช่วยเต็มที่ แต่ต้องดูความสามารถชำระหนี้ด้วย โดยขณะนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้ให้กับสินเชื่อลูกค้ารายกลาง รายเล็กและรายย่อยไปแล้วเกือบ 300,000 ล้านบาท และหากธนาคารไม่ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลูกค้า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเพิ่มขึ้นเป็น 7-9% ของสินเชื่อรวม ขณะที่เงินกองทุนที่มีอยู่รองรับเอ็นพีแอล 10-11% จึงต้องประคับประคองลูกค้าให้อยู่รอดผ่านวิกฤติไปด้วยกัน โดยตั้งเป้าเอ็นพีแอลปีนี้ไม่ให้เกิน 4.3% จากไตรมาส 1 ที่มีเอ็นพีแอลที่ 4.36%
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการเลื่อนเปิดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศของสายการบินไทยออกไปอีก 1 เดือน ไปเป็นช่วงวันที่ 1 ส.ค.63 ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นแผนที่ฝ่ายการพาณิชย์ของการบินไทยได้ศึกษาและคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า หากมีการผ่อนปรนจะดำเนินการอย่างไร แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่าจะสามารถทำตามแผนได้หรือไม่ เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย
“ขณะนี้มองว่าสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจการบิน และหากเปิดบินอาจไม่คุ้ม โดยการบินไทยยืนยันว่าพร้อมที่จะบินตลอดเวลา แต่ต้องมีผู้โดยสารที่เพียงพอ และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและคุ้มค่า โดยจะต้องมีการศึกษารายละเอียดในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ การบินไทยได้เตรียมแผนเริ่มกลับมาทำการบิน ในวันที่ 1 ส.ค. 63 เป็นต้นไป ใน 3 ช่วง คือ เริ่มทำการบิน 1 ส.ค. 26 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางลอนดอน ปารีส โคเปนเฮเกน นิวเดลี เดนปาซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ธากา ประเทศบังกลาเทศ แฟรงก์เฟิร์ต กวางโจว ฮานอย โฮจิมินห์ ฮ่องกง อิสลามาบัด การาจี
ละฮอร์ ปากีสถาน เมลเบิร์น มิวนิก นาโงยา โอซากา พนมเปญ โซล ซิดนีย์ บิน, ไทเป โตเกียว เวียงจันทน์ และย่างกุ้ง
เริ่มบิน 2 ส.ค.มี 9 เส้นทาง ได้แก่ ปักกิ่ง บริสเบน บรัสเซลส์ กัวลาลัมเปอร์ มะนิลา, เพิร์ธ ออสเตรเลีย เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ และซูริก เริ่มบิน 3 ส.ค. จำนวน 2 เส้นทาง คือ โอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ และจาการ์ตา ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศที่ยังไม่กลับมาทำการบิน เช่น มิลาน และโรม อิตาลี, มอสโก รัสเซีย, เวียนนา ออสเตรีย, สตอกโฮล์ม สวีเดน, ซัปโปโร, ฟุกุโอกะ, เซนได, กาฐมาณฑุ, ออสโล นอร์เวย์, โคลัมโบ ศรีลังกา เป็นต้น.