คลอดแพ็กเกจ “อุ้ม SMEs” 3.8 แสนล้านบาท

Business & Marketing

Marketing & Trends

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลอดแพ็กเกจ “อุ้ม SMEs” 3.8 แสนล้านบาท

Date Time: 8 ม.ค. 2563 09:28 น.

Summary

  • นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงการคลังใน “มาตรการต่อเติม เสริมทุน เอสเอ็มอี สร้างไทย”

Latest

“ชาตรามือ” ต้นตำรับชาไทย 80 ปี กวาดรายได้ 3,000 ล้าน ตั้งเป้าโต 20% เปิดเกมรุกตลาดโลก

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงการคลังใน “มาตรการต่อเติม เสริมทุน เอสเอ็มอี สร้างไทย” วงเงิน 380,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เอสเอ็มอีได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ราย จากการค้าโลกที่ชะลอตัว และค่าเงินบาทแข็งให้สามารถแข่งขัน และอยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนได้ โดยจะยกระดับความสามารถของเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ

สำหรับมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย กลุ่มแรก คือ กลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการสภาพคล่อง ได้แก่ 1.โครงการสร้างไทย โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ตั้งวงเงินค้ำประกัน 60,000 ล้านบาท จ่ายค่าชดเชยความเสียหายไม่เกิน 40% ของวงเงินค้ำประกันแก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพแต่ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และลูกหนี้รีไฟแนนซ์ (Re-finance) ให้มีสภาพคล่อง 2.โครงการเสริมแกร่ง ของธนาคารออมสิน ที่ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2 วงเงิน
15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี ส่วนสถาบันการเงินที่เข้าร่วมจะคิดดอกเบี้ยราว 4% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี ให้แก่กลุ่มธุรกิจ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

3.โครงการธนาคารออมสิน ผ่อนปรนภาระการจ่ายเงินต้น และเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงิน 50,000 ล้านบาท ให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นของลูกค้าชั้นดี (MLR) ลบ 1% ระยะเวลากู้สูงสุด 6 ปี และปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ส่วนกลุ่มที่สอง คือ SMEs ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันที ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อระยะที่ 5 ถึงระยะที่ 7 ของ บสย. ซึ่งจะขยายเวลาการค้ำประกันในโครงการออกไปอีก 5 ปี และยกเลิกเงื่อนไขที่ให้ บสย.จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินดำเนินคดีกับเอส–เอ็มอี โดยให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่เอสเอ็มอี ที่ บสย.ค้ำประกัน และกำลังถูกฟ้องจะได้รับการช่วยเหลือ 28,000 ราย วงเงิน 70,000 ล้านบาท

กลุ่มที่สามคือสร้างศักยภาพ โดยสนับสนุนผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน และการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยผ่านกองทุนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยเอสเอ็มอีแบงก์เป็นผู้พิจารณาสินเชื่อ วงเงิน 5,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี เงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี พร้อมให้ปรับโครงสร้างหนี้แทนการฟ้องดำเนินคดี ขยายการค้ำประกันสินเชื่อ คลุมธุรกรรมการให้เช่าซื้อ-การให้เช่าแบบลิสซิ่ง-แฟ็กเตอริง และโครงการไดเรกต์การันตีวงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ