นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ว่า จากการเจรจาของคณะอนุกรรมการ และกลุ่มซีพี ทางคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาแล้ว สรุปว่า ทาง รฟท.ขอปฏิเสธ 12 ข้อเสนอเพิ่มเติมจากที่ทางกลุ่มซีพีเสนอมา จากทั้งหมดที่เสนอมากว่า 100 ข้อ เนื่องจากขัดกับข้อเสนอของทีโออาร์โครงการกำหนด หรือ RFP และขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยข้อเสนอส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อาทิ ขอปรับเวลาจ่ายเงินอุดหนุนจากรัฐก่อนกำหนด, ขอขยายอายุสัมปทานเป็น 99 ปี, ส่วนข้อเสนอที่คณะกรรมการคัดเลือกรับไว้ จะเป็นข้อเสนอที่อยู่ภายใต้กรอบ RFP และไม่ขัดกับ ครม. เช่น การรับความเสี่ยงจลาจล ภัยพิบัติ หรือผลกระทบที่ไม่อาจควบคุมได้มากระทบกับโครงการงานก่อสร้าง รวมทั้งยังรับข้อเสนอที่จะแนบไว้ท้ายสัญญา เพื่อเจรจาในอนาคต อาทิ ก่อสร้างส่วนต่อขยาย ปรับย้ายหรือเพิ่มสถานี และก่อสร้างเส้นทางย่อย (สเปอร์ไลน์)
นายวรวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า ดังนั้น รฟท.จะส่งหนังสือสรุปผลการหารือของคณะกรรมการคัดเลือกให้กลุ่มซีพีทราบ พร้อมทั้งนัดวันเจรจาร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 5 มี.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการเจรจาครั้งสำคัญ เพราะทางซีพีจะต้องตัดสินใจว่ารับได้หรือไม่ ถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือก หากรับได้ ก็จะเดินหน้าต่อเพื่อเจรจาในกลุ่ม 3 ข้อเสนอ แต่หากรับไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายก็จะต้องยุติเจรจา อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าโครงการจะลงนามทันในเดือน มี.ค.นี้แน่.