ตั้งเป้าส่งออกปีหน้าโต 5-8% “พาณิชย์” วาดฝันเมินปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

Business & Marketing

Marketing & Trends

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตั้งเป้าส่งออกปีหน้าโต 5-8% “พาณิชย์” วาดฝันเมินปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

Date Time: 18 ต.ค. 2561 08:44 น.

Summary

  • “พาณิชย์” ตั้งเป้าส่งออกปีหน้า พุ่งทะยาน 5-8% มูลค่า 268,000-276,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ท่ามกลางสารพัดปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทั้งสงครามการค้า

Latest

"อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ" 35ปีในธุรกิจออร์กาไนเซอร์ "ทุนมนุษย์ผู้มีทักษะ"คือฟันเฟืองขับเคลื่อนสำคัญ

“พาณิชย์” ตั้งเป้าส่งออกปีหน้า พุ่งทะยาน 5-8% มูลค่า 268,000-276,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ท่ามกลางสารพัดปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทั้งสงครามการค้า สถานการณ์ภายในของคู่ค้าสำคัญ ภัยพิบัติ ค่าเงินผันผวน ราคาน้ำมันพุ่ง แต่ยันทำแผนรับมือครอบคลุมรอบด้าน ขณะที่ภาคเอกชนตั้งเป้าโตที่ 5-7%

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ทั่วโลก ระหว่างวันที่ 15-18 ต.ค. เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้และสถานการณ์ในปีหน้า โดยจัดทำเป้าหมายการขยายตัวของมูลค่าส่งออกไทยปี 2562 ที่ 5-8% คิดเป็นมูลค่า 268,000-276,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่ละเดือนต้องส่งออกให้ได้ไม่ต่ำกว่า 22,300-23,000 ล้านเหรียญฯ

สำหรับเป้าหมายการขยายตัว 5-8% ในปีหน้านั้น ตลาดสหรัฐฯตั้งเป้าหมายที่ 6% ลดลงจากปี 2561 ที่คาดขยายตัว 7%, แคนาดาเพิ่มขึ้น 8% จากปี 2561 เพิ่ม 7%, ละตินอเมริกา เพิ่ม 6% จากปี 2561 เพิ่ม 3%, สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) เพิ่ม 3% ลดลงจากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 5%, ตะวันออกกลาง เพิ่ม 3% ลดลงจากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 5%, แอฟริกาเพิ่ม 10% ลดลงจากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 11%, รัสเซียและเครือเอกราช เพิ่ม 10% ลดลงจากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 30%, จีนเพิ่ม 12% จากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 10%, ฮ่องกงเพิ่ม 12% จากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 10%

ขณะที่เอเชียใต้ เพิ่ม 8% เท่ากับปี 2561, ญี่ปุ่นเพิ่ม 7% ลดลงจากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 8%, ไต้หวัน 7% เท่ากับปี 2561, เกาหลีใต้ เพิ่ม 7% ลดลงจากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 12%, อาเซียน (9 ประเทศไม่รวมไทย) เพิ่ม 8.3% จากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 6%, อาเซียน (สมาชิกเดิม 5 ประเทศ) เพิ่ม 8.2% จากปี 2561 คาดเพิ่ม 5.6% และซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพิ่ม 8.4% จากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 8.1% และทวีปออสเตรเลียเพิ่ม 6% ลดลงจากปี 2561 ที่คาดเพิ่ม 8% อย่างไรก็ตาม เป้าหมายดังกล่าวยังไม่เป็นทางการ โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องนำมาประเมินร่วมกับเป้าหมายของภาคเอกชนก่อน จึงจะได้เป้าหมายอย่างเป็นทางการสำหรับปีหน้า

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า วันนี้ (18 ต.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการทำงานให้กับทูตพาณิชย์รวมถึงรับฟังสถานการณ์ส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และประเมินสถานการณ์ในปีหน้า ซึ่งจะมีเชิญภาคเอกชนเช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยเข้าร่วมด้วย ส่วนเป้าหมายมูลค่าส่งออกปีหน้าจะขยายตัวเท่าไร ขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่ปีนี้ขยายตัวเกินเป้าหมาย 8% อาจขยายตัวได้ถึง 9% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบการส่งออกไทยในปีหน้า ยังคงเป็นปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งทำให้นโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจไม่แน่นอน, สถานการณ์ภายในของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจของยุโรป อย่างอิตาลี กรีซ การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีประเทศอื่นๆอีกหรือไม่, การคว่ำบาตรอิหร่าน และสงครามในตะวันออกกลาง, ภัยพิบัติต่างๆ, อัตราแลกเปลี่ยนที่อาจผันผวน, ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

“การประชุมทูตพาณิชย์ครั้งนี้ ได้ทำแผนผลักดันการส่งออก และแผนรับมือผลกระทบต่างๆ ไว้หมดแล้ว ส่วนเป้าหมายการส่งออกปีหน้า ก็ได้จัดทำโดยพิจารณาจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้แล้วด้วย ดังนั้น เป้าหมายปีหน้า จะเป็นเป้าหมายแบบทะเยอทะยาน แต่มีความเป็นไปได้มากที่จะบรรลุผล”

ส่วนแผนผลักดันการส่งออกในปีหน้า นอกจากจะเน้นส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมหลัก อย่างยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อาหาร ฯลฯ แล้ว ยังต้องเน้นสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป ธุรกิจบริการ สินค้าแบรนด์ไทยและผลักดันให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว ยังต้องเน้นทำตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ คนรักสุขภาพ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปีหน้า สรท.ตั้งเป้าการส่งออกไทยขยายตัว 5-7% ใกล้เคียงกับเป้าหมายของทูตพาณิชย์ โดยกลุ่มสินค้าที่ยังโดดเด่น เช่น อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน, อาหาร, สินค้าแปรรูป, ยางพารา, ข้าว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทิศทางการส่งออกปีหน้า คงไม่หวือหวาเหมือนปี 2560-2561 เพราะเศรษฐกิจโลกได้รับความกดดันจากสงครามการค้า, ความผันผวนของค่าเงิน และมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ