นายจุลพงษ์ ทวีศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ที่ประกอบกิจการรีไซเคิลชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เพื่อจำหน่าย (โรงงานประเภท 105,106) และพบว่าภายในโรงงานดังกล่าว ได้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ 7,000 ตัน ที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องยึดอายัดไว้ หลังจากที่มีการตรวจสอบพบว่าโรงงานดังกล่าว มีวัตถุอันตรายในครอบครอง เนื่องจากได้รับขยะอิเล็กทรอนิกส์มาจาก 3 โรงงาน ที่ได้รับสิทธิ์นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามอนุสัญญาบาเซิล คือ บริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทโอ.จี.ไอ จำกัด และบริษัท ไวโรกรีน (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับของกลางทั้งหมดที่ได้ยึดอายัดไว้ ต้องห้ามเคลื่อนย้าย/จำหน่าย หรือจ่ายแจก จนกว่าคดีจะสิ้นสุด หากพบว่ามีการเคลื่อนย้ายจะถือว่าผิดกฎหมายอาญาและโรงงานต้องดูแลของกลางทั้งหมด ทั้งในอาคารและที่กองอยู่นอกอาคาร โดยที่กองนอกอาคารให้หาผ้าใบคลุม ไม่ให้มีการปนเปื้อน ซึ่งการลงพื้นที่อายัดของกลางในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ หลังจากนี้ได้มอบให้เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานที่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องสงสัยว่าผิดกฎหมายให้ดำเนินการอายัดไว้เป็นของกลางทันที และอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ต้องแจ้งความดำเนินคดีกับโรงงานที่กระทำความผิดต่อไป.