“พาณิชย์” สกัดผู้ผลิตสินค้าอุปโภคขอลดไซส์–ลดปริมาณสินค้า แต่ขายราคาเดิม หลังหลายสินค้า หลายยี่ห้อ ทำหนังสือขออนุญาต อ้างปรับสูตรใหม่ สินค้าคุณภาพดีขึ้น แต่ตรวจสอบแล้วไม่ต่างจากของเดิม แนะผู้บริโภคหากพบเห็นพฤติกรรมเอาเปรียบ แจ้งที่สายด่วน 1569 ทันที
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มของแชมพู สบู่เหลว น้ำยาซักผ้าน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ยาสีฟัน ผงซักฟอก เป็นต้น ในหลายยี่ห้อ ได้ทำหนังสือมายังกรม เพื่อขอออกผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการลดขนาดบรรจุภัณฑ์และลดปริมาณสินค้า แต่ยังขอจำหน่ายราคาเดิม โดยให้เหตุผลว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ได้มีการปรับสูตรใหม่ ทำให้สินค้ามีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม แต่หลังจากที่กรมได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบว่า สินค้าไม่ได้แตกต่างจากของเดิม จึงไม่อนุมัติให้ดำเนินการตามที่ผู้ผลิตขอมา
“มองว่าการกระทำนี้เป็นการขึ้นราคาสินค้าแบบเลี่ยงกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักจะใช้วิธีการลดขนาดสินค้าแล้วอ้างว่าเป็นสินค้าตัวใหม่ เป็นสินค้าพรีเมียม แล้วปรับขึ้นราคาขาย หรือคงราคาเดิม แต่ขนาดลดลง ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถทำได้แล้วเพราะจะผิดกฎหมายที่สำคัญ การจะลดขนาดหรือทำสินค้าตัวใหม่ต้องแจ้งกรมก่อน หากพบว่าต้นทุนและคุณภาพสินค้าไม่ต่างจากตัวเดิมก็จะไม่อนุมัติ แต่ถ้าจะทำ ผู้ประกอบการจะขายราคาเดิมไม่ได้ ต้องลดราคาลงมาด้วย เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค”
อย่างไรก็ตาม กรมไม่ได้ปิดกั้นว่าจะไม่ให้ผู้ผลิตปรับลดขนาดหรือปริมาณสินค้า โดยหากผู้ผลิตมีความจำเป็นในการดำเนินการจริง หรือมีต้นทุนสูงขึ้นจริง และได้นำเสนอรายละเอียดต้นทุนที่ชัดเจน และสมเหตุสมผล กรมก็พร้อมที่จะพิจารณาให้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ผลิตด้วย สำหรับผู้บริโภคหากพบเห็นหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้า หรือพบเห็นสินค้ามีการปรับลดขนาด หรือปริมาณบรรจุ แต่ขายราคาเดิมหรือราคาสูงขึ้น ให้ร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรม โทร.1569 จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมสินค้าในกลุ่มสบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพู น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ไม่ได้อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม แต่เมื่อช่วงต้นปี 61 กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำสินค้ากลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม ซึ่งได้รับความเห็นชอบ เพราะสินค้าเหล่านี้มีปัญหาการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าผู้ผลิตมักลดขนาดบรรจุและลดปริมาณบรรจุ แต่ยังคงขายราคาเดิม
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้จากการตรวจสอบสินค้าในท้องตลาด พบว่า สินค้าในกลุ่มดังกล่าว ผู้ผลิตมักจะใช้วิธีการปรับลดปริมาณสินค้าหรือขนาดบรรจุลง เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาเดิม โดยอ้างว่ามีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ เพราะจ่ายเงินซื้อเท่าเดิม แต่ได้รับสินค้าปริมาณลดลง โดยปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คือ การปรับลดขนาดบรรจุจากปกติ 1000 ซีซี เหลือ 900 ซีซี และลดเรื่อยมาจนบางยี่ห้อลดเหลือ 700-750 ซีซี ในปัจจุบัน ส่วนสินค้าบางชนิดขนาดปกติ 500 ซีซี ก็ลดเหลือ 400-450 ซีซี และล่าสุดมีรายงานว่าผู้ผลิตบางรายใช้วิธีตบตาผู้บริโภค โดยใช้บรรจุภัณฑ์ หรือขวด หรือกล่อง ขนาดเท่าเดิม แต่ลดปริมาณสินค้าลง เช่น เดิมขนาด 100 ซีซี ก็ลดปริมาณสินค้าเหลือ 70 ซีซี หากมองด้วยตาเปล่าก็จะ
ไม่ทราบว่าปริมาณลดลง.