หลังพบลักลอบตีตลาดในไทย หวังแก้ปัญหากดราคาดิ่งเหว
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามและประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหากรณีที่เกษตรกรได้ร้องเรียนสถานการณ์ราคามะพร้าวตกต่ำ เพราะมีการนำเข้าจำนวนมาก โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 16 ก.ค.นี้ พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือ ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณามาตรการนำเข้า เพื่อเป็นทางเลือกในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เช่น กำหนดระยะเวลานำเข้าใหม่ โดยอาจลดระยะเวลาการนำเข้าให้สั้นลงเพื่อให้สอดคล้องกับผลผลิตในประเทศที่จะออกสู่ตลาด จากเดิมอนุญาตให้นำเข้าจากสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) และอาเซียน ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. และเดือน พ.ย.-ธ.ค.ของแต่ละปี ส่วนในเดือน มิ.ย.-ต.ค. ไม่อนุญาตให้นำเข้า ซึ่งผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ
นอกจากนี้ จะเสนอให้เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของกรมการค้าต่างประเทศ ที่จะกำหนดให้ผู้นำเข้ามะพร้าวทั้งลูก เมื่อนำไปจ้างกะเทาะเปลือกออกจะต้องแจ้งปริมาณให้กรมทราบ เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปขายต่อ เพราะในการอนุญาตให้นำเข้าได้ กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องใช้เองเท่านั้น ห้ามการจำหน่าย จ่าย โอน ในประเทศ สำหรับปัญหาลักลอบนำเข้ามะพร้าวนั้น ได้รับการแจ้งจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมศุลกากรตรวจสอบและคุมเข้มการนำเข้า
“การลักลอบนำเข้า เป็นส่วนหนึ่งทำให้ราคามะพร้าวในประเทศตกต่ำ สาเหตุที่ลักลอบเพราะกรมได้กำหนดเวลานำเข้า 2 ช่วง ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตของไทยมีน้อย แต่ในช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค.ที่ผลผลิตไทยออกมาก ไม่อนุญาตให้นำเข้า อย่างไรก็ตาม กรมจะเข้มงวดการนำเข้าให้มากขึ้น โดยผู้นำเข้าจะต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับกรมก่อน และต้องระบุแผนการนำเข้า ใช้ให้ชัดเจน หากไม่ปฏิบัติตาม จะเข้มงวดการออกใบอนุญาตนำเข้าครั้งต่อไป”.