นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการที่ตลาดนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) จากจีน เริ่มมีปัญหาจากออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (โอทีเอ) จากที่มีการตัดราคาหน้าเว็บในราคาต่ำกว่าทุนมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างตลาดไปสู่กลุ่มคุณภาพ ดังนั้น ททท.เตรียมร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ที่จัดตั้งเป็นชมรมธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ (ประเทศไทย) ประกอบด้วย ธุรกิจให้บริการ, แหล่งท่องเที่ยว, สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆกว่า 44 ราย แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายนิพนธ์ บุญมาสุวราญ ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่า มีโอทีเอหลายราย โดยเฉพาะจากตลาดจีน เริ่มนำสินค้าด้านการท่องเที่ยวไปขายราคาต่ำกว่าที่ผู้ประกอบการกำหนด ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นจากผู้ประกอบการ 19 รายพบว่า ในจำนวนการขาย 2,664 รายการ เป็นการขายในราคาที่ถูกต้องจำนวน 1,748 รายเท่านั้น ส่วนการขายผิดราคาส่วนใหญ่เป็นการขายต่ำกว่าทุน เช่น รับซื้อตั๋วเข้าชมจากผู้ประกอบการไทยมาในราคา 1,500 บาท แต่ไปปล่อยขายในราคา 500 บาท ซึ่งบางบริษัทโอทีเอวางงบประมาณเผื่อชดเชยการขาดทุนของตัวเองไว้ถึง 20-30 ล้านบาท
“จากการร่วมมือกัน และทดลองใช้มาตรการคุมราคากับ 19 แหล่งท่องเที่ยวในช่วง 1 เดือนแรก ยอดขายแบบธุรกิจต่อธุรกิจ (บีทูบี) เพิ่มขึ้นราว 5% โดยกำไรก่อนบังคับใช้มาตรการเฉลี่ยอยู่ที่ 17% แต่หลังบังคับใช้มาตรการคุมราคา กำไรเพิ่มขึ้นถึง 67% นอกจากนั้น หลังจากการล่อซื้อโอทีเอที่ไปขายนักท่องเที่ยวในราคาต่ำเกินกว่าที่ตกลงแล้ว มีการให้บทลงโทษชัดเจน เช่น แบนการขายร่วมกับโอทีเอที่มีปัญหา 1 สัปดาห์ ก่อนประกาศใช้มาตรการมีเว็บไซต์ที่สามารถคุมราคาได้ 12% แต่หลังจากประกาศใช้โดยที่ธุรกิจของไทยร่วมมือกัน มีเว็บไซต์ที่คุมราคาได้ถึง 92%”.