ไทยเบฟ ยืนยันนำ BeerCo เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ ทุ่ม 7 พันล้าน ลุยสร้างโรงงานบุกอาเซียน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยเบฟ ยืนยันนำ BeerCo เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ ทุ่ม 7 พันล้าน ลุยสร้างโรงงานบุกอาเซียน

Date Time: 3 ต.ค. 2566 17:13 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ไทยเบฟ เดินเกมรุก ทุ่มงบ 7,000 ล้าน กรุยทางลงทุนในกัมพูชา สร้างโรงงานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งลงทุนในประเทศ ด้านการขนส่ง ไบโอแก๊ส และความยั่งยืน พร้อมกับการเข้าไปศึกษาตลาดในประเทศจีน ด้านบริษัทในเครือ BeerCo หลังจากไทยเบฟเคยประกาศแผนเลื่อน นำธุรกิจเบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ยังยืนยันที่จะ IPO ขณะที่ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 66 มีรายได้เพิ่มขึ้น 3.8% แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคและการท่องเที่ยว

Latest


ยืนยันที่จะนำ BeerCo ไป IPO 

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” หรือ “กลุ่มบริษัทไทยเบฟ”) กล่าวว่า ท่ามกลางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ไทยเบฟมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ในการเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าและสถานะในตลาดสำหรับทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังที่ได้เห็นจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ

ด้านบริษัท BeerCo บริษัทในเครือ หลังจากไทยเบฟเคยประกาศเลื่อนแผนนำธุรกิจเบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ มาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ก็ยังมองว่าจะยังคงไป IPO ในตลาดสิงคโปร์ โดยเรามีนักลงทุน มีการคุย IPO และแผนที่จะหา Strategic investor เพราะมีผู้ประกอบการหลายรายที่อยากจะเข้ามา ดังนั้นเรื่องของ BeerCo IPO เรายัง Explore ต่อ แต่ก็มองว่าไม่ได้ง่าย จึงต้องเตรียมความพร้อม และเมื่อไหร่ที่ตลาดพร้อมเราคงจะก้าวมาเป็นอันดับแรกๆ 

สำหรับแผนงานปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค. 2566 - 30 ก.ย. 2567) ตั้งเป้าเงินลงทุนไว้ที่ 7,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4,000 ล้านบาท ที่จะใช้สำหรับการลงทุนสร้างโรงงานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศกัมพูชาเป็นครั้งแรก ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างชายแดน รวมทั้งสร้างโอกาสในการขยายตลาดรวมถึงฐานการผลิตใหม่ ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่ง ที่ถือเป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญที่จะเชื่อมโยงไปยังตลาดอื่นในประเทศใกล้เคียง หลังจากที่ผ่านมาบริษัทส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายแล้ว และพบว่าได้รับความนิยมและผลตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก

ขณะที่เงินลงทุนอีก 3,000 ล้านบาท จะเป็นการใช้ในส่วนของการลงทุนในประเทศ ด้านการขนส่ง ไบโอแก๊ส และความยั่งยืน พร้อมกับการเข้าไปศึกษาตลาดในประเทศจีนจากการร่วมทุนกับ local partner กลุ่มธุรกิจสุราพรีเมียม เพื่อเรียนรู้รูปแบบการทำงาน รวมทั้งสภาพตลาด และการการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางด้านโลจิสติกส์ และเรื่องของ AI ที่กำลังมาแรง เนื่องจากจีนมีความต้องการสุราพรีเมียมนำเข้าจากต่างประเทศสูง ซึ่งในระยะยาวคาดว่าจีนจะเป็นตลาดที่ดีและทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้มี M&A ใหญ่ๆ เพราะการลงทุนในจีนไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งมองว่าจะต้องค่อยๆ ใช้เวลาสร้างความเข้าใจและขีดความสามารถในการทำธุรกิจ รวมถึงการบริหารจัดการในประเทศดังกล่าว ก่อนเข้าไปทำตลาดอย่างจริงจังหลังจากนี้

“การลงทุนของลาว และกัมพูชา เรามีการส่งสินค้าไปขายในกัมพูชา วันนี้เราสนใจเข้าไปลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และการว่าจ้างงาน รวมทั้งเรามองว่ากัมพูชาเป็นอีก 1 ใน strategic market และมองว่าในพื้นที่ทั้งลาว กัมพูชา มีส่วนสำคัญในการ Connect แม้ว่าจะตลาดเล็ก ประชากรมีไม่เท่าไร แต่ลาวและกัมพูชา เชื่อมโยงระหว่างไทยและเวียดนาม จึงถือได้ว่าเป็นความเชื่อมโยงที่มีศักยภาพสูง ขณะเดียวกันการที่คาราบาวตัดสินใจมาลงทุนในเรื่องของเบียร์ ก็นับเป็นเรื่องที่ดีที่จะสร้างการแข่งขันในตลาด และผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้นเราต้องปรับตัวตลอดเวลา เรียนรู้ เพื่อผลักดันองค์กร”

ทั้งนี้การเปิดตลาดสู่อาเซียน ไม่ว่าเราจะเดินเข้าหาเขา หรือเขาจะมาลงทุนในฝั่งเรา ก็มีความเป็นไปได้ อยู่ที่ความเหมาะสม ซึ่งเราก็ได้มีการพูดคุยกับฝั่งอเมริกา และญี่ปุ่น ดังเช่นที่ประเทศอื่นสนใจตลาดอาเซียน ซึ่งทุกคนล้วนเห็นโอกาส อย่ามองเพียงว่าใครจะมาแข่งกับใคร หรือควบรวมกับใครอยู่ที่ว่าจะจับมือกับใครมากกว่า ซึ่งอีก 2 ปี จะเห็นชัดว่าใครอยู่ใครไป ใครอ่อนแอ ใครแข็งแรง ได้ไปต่อ

9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัทไทยเบฟมีรายได้เพิ่มขึ้น 3.8% 

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังดำเนินมาตรการบริหารอัตรากำไรอย่างรอบคอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น พร้อมทั้งรักษาผลกำไรสุทธิและส่วนแบ่งตลาด นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบและความยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยยึดมั่นขับเคลื่อนกลยุทธ์ “สรรค์สร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth)” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2583

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กว่า 60% และธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์กว่า 30% และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัทไทยเบฟมีรายได้จากการขาย 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากปัจจัยโดยรวมทั้งในด้านรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ ไทยเบฟยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดอิสระที่ดี

รวมทั้งใน 9 เดือนแรกของปี 2566 ธุรกิจสุรามีรายได้ 93,673 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.3% โดยธุรกิจสุราในไทยยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและผลกำไรที่มั่นคง ซึ่งได้มีการวางแผนการดำเนินงานที่ครอบคลุมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจตั้งแต่ก่อนที่ตลาดจะกลับมาเปิดอีกครั้ง รวมถึงการเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าหลักของเราอย่างรวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สำหรับตลาดต่างประเทศ เราได้เดินหน้าขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมและเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery)

เดินหน้าขยายสาขาร้านอาหารใหม่เพิ่มอีก 50-60 สาขา

ธุรกิจเบียร์มีรายได้ 93,262 ล้านบาท เติบโต 0.7% ส่วนธุรกิจที่ไม่แอลกอฮอล์อย่างเครื่องดื่มมีรายได้ 14,822 ล้านบาท เติบโต 15.6% จากการขยายช่องทางจำหน่ายมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้ 14,296 ล้านบาท เติบโต 19.2% จากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภายในร้านอาหาร ทำให้ปัจจุบันไทยเบฟเดินหน้าขยายสาขาใหม่ และเพิ่มการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม โดยมีร้านอาหารทั้งหมด 771 สาขาทั่วประเทศ โดยเปิดเพิ่มทั้งสิ้น 43 ร้านในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ขณะที่ปี 2567 มีแผนใช้เงินลงทุน 800-1,000 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านอาหารใหม่เพิ่มอีก 50-60 สาขา ซึ่งจะเน้น KFC และโออิชิ เป็นหลัก

“การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการบริโภคในประเทศจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ไทยเบฟก็ตระหนักดีว่าแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มเชื่อมั่นว่ารากฐานอันมั่นคงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของไทยเบฟได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มในการเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียน”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ