พื้นที่เร้นลับในดีลทรู-ดีแทค

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พื้นที่เร้นลับในดีลทรู-ดีแทค

Date Time: 5 ก.ค. 2565 05:16 น.

Summary

  • การเปิดเผยท่าทีของเทเลนอร์ กรุ๊ปต่อการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา กลายเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ หลังข้อตกลงที่ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการ

Latest

“มวยไทย” เกมกีฬา ปรากฏการณ์เขย่าเศรษฐกิจ ฐานแฟนคลับหญิง ดันแบรนด์ไทย Fairtex-Twins ดังในจีน

การเปิดเผยท่าทีของเทเลนอร์ กรุ๊ปต่อการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา กลายเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ หลังข้อตกลงที่ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 ถูกจับวางไว้ในพื้นที่เร้นลับ เป็นปริศนาดำมืดตลอด 7 เดือนให้หลัง

นับจากวันที่มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวโดยไม่เปิดให้มีการซักถาม เมื่อ 22 พ.ย.2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และเทเลนอร์กรุ๊ป ในฐานะบริษัทแม่ของทรูและดีแทคตามลำดับ ก็เลือกที่จะปิดปากเงียบ แม้กระทั่งบนเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัดหรือโฟกัสกรุ๊ป ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดขึ้น 3-4 ครั้ง ก็ยังไม่ปรากฏการแสดงความคิดเห็นหรือชี้แจงเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อสาธารณะ

ไม่ต่างจากท่าทีของคณะกรรมการ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ตั้งแต่คณะกรรมการชุดเก่า ซึ่งเข้าใจได้ว่ากำลังจะหมดวาระ จึงควรวางเฉยต่อเรื่องที่ถือได้ว่าเป็น “เผือกร้อน” และส่งไม้ต่อให้คณะกรรมการชุดใหม่รับไปเต็มๆ

แต่เมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งมีประธานชื่อนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 20 เม.ย.2565 จนปัจจุบัน นอกจากตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุดขึ้นมาศึกษา จัดโฟกัสกรุ๊ป และออกแถลงการณ์ 1 ฉบับยืนยันการทำงานอย่างโปร่งใส จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการชี้แจงข้อมูลใดๆอย่างเป็นทางการ มีแต่กำชับห้ามข้อมูลรั่วไหล ไม่มีแม้กระทั่งการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

พฤติกรรมของบอร์ดชุดใหม่นำไปสู่ สมมติฐานหลากหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นไปได้หมด ตั้งแต่อาการ “หวาด ผวา” “กลัว” “เกร็ง” ที่ต้องถูกซักถาม หรืออาจเป็นยุทธการ ยื้อเวลาเพื่อจะได้เคลียร์กับเอกชนให้ลงตัวก่อน รวมไปถึงความเห็นที่ไม่สอดคล้องระหว่างบอร์ดด้วยกันเอง

การออกมาชี้แจงข้อมูลของเทเลนอร์กรุ๊ป ท่ามกลางความมืดมนอนธการของดีลที่สร้างความวิตกกังวลต่อผลกระทบอันอาจเกิดกับผู้บริโภค จึงเป็นการกระทำที่เป็นธรรมชาติ ตรงไปตรงมา และเปิดรับการตรวจสอบมากที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ดีลนี้ถูกเปิดเผยออกมา

ซิคเว่ เบรกเก้ ซีอีโอเทเลนอร์ กรุ๊ป ซึ่งนานมาแล้วเคยดำรงตำแหน่งซีอีโอของดีแทค และก่อนหน้านั้นเคยเป็นนักการเมืองที่นอร์เวย์ เป็นนักบริหารมืออาชีพที่รู้วิธีสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อถูกถามว่ามั่นใจกับดีลนี้แค่ไหน เพราะมีหลายภาคส่วนคัดค้านอย่างเอาเป็นเอาตาย เขาตอบตรงไปตรงมาว่า “ไม่แน่ใจนัก” แต่หากดีลไม่ดีจริง ก็คงไม่ ทุ่มเททำกันมาถึงขนาดนี้ แน่นอนทั้งทรูและดีแทคได้ประโยชน์แน่ โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อรับมือกับโลกธุรกิจยุคใหม่

แต่ความเข้มแข็งของทรูและดีแทคหลังควบรวม ยังจะส่งผลดีต่อประเทศ เพราะจะก่อให้เกิด 2 บริษัทใหม่ที่แข็งแกร่ง หนึ่งในนั้นคือเอไอเอส และสองคือบริษัทใหม่จากการควบรวม “ถ้าที่สุดดีลนี้ไม่สำเร็จ เราก็กลับไปอยู่แบบเดิม ไม่มีความคิดที่จะถอนการลงทุนจากไทยแน่ แต่ทรูและดีแทคจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เหลือเอไอเอสแข็งแกร่งที่สุดเพียงรายเดียว ผลลัพธ์นี้จะไม่ส่งผลดีต่อประเทศไทย”

ในมุมของราคาค่าบริการ ซิคเว่ยืนยันว่าการควบรวมไม่ได้ มีเป้าหมายเพื่อขึ้นค่าบริการ ในทางตรงกันข้ามจะสร้างการแข่งขัน ที่เท่าเทียมขึ้นด้วยซ้ำ เทเลนอร์คาดหวังการกำกับดูแลด้านราคาจาก กสทช.อย่างเต็มที่ หากไม่ทำจะผิดหวังมากเพราะ กสทช.มีกลไกกำกับดูแลอยู่แล้ว ในหลายประเทศที่อนุญาตให้มีการควบรวมล้วนเดินตามแนวทางนี้

การตัดสินใจออกมาชี้แจงของซิคเว่ อาจมาจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น หลังผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการ 4 ชุดออกมาไม่สวยนัก (เมื่อพิจารณาจากมุมของทรูและดีแทค) คณะอนุกรรมการชุดกฎหมายมีมติ 9 ต่อ 1 เห็นว่าบอร์ด กสทช.มีอำนาจในการเคาะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวม คณะอนุฯชุดเทคโนโลยี พิจารณาว่าหากควบรวมได้ จะมีความกังวลเรื่องจำนวนคลื่นที่ทรูและดีแทคถือครองร่วมกันและอาจต้องมีการกระจาย (Divest) คลื่นออกไป เช่น คืนคลื่นบางส่วนกลับมา หรือแบ่งให้ผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง MVNO เป็นต้น

ขณะที่คณะอนุฯเศรษฐศาสตร์ มีผลการศึกษาชี้ชัดการควบรวมทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาด เพิ่มอำนาจผูกขาดกระทบไปถึงการเติบโตของจีดีพีประเทศ สอดคล้องกับคณะอนุฯด้านผู้บริโภค ที่เห็นว่าราคาค่าบริการจะเพิ่มขึ้นแน่นอนจากจำนวนผู้แข่งขันในตลาดที่ลดจาก 3 เหลือ 2

ท่ามกลางสถานการณ์สุดล่อแหลมนี้ บางทีการเลือกที่จะ “เงียบ” และเดินเกม “ถนัด” ในแบบที่ซีพีเคยทำสำเร็จจากการทำให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล อนุมัติการเข้าซื้อกิจการโลตัส จนสามารถเก็บสะสมพอร์ตค้าปลีกไว้ในมือได้เกือบหมดประเทศ น่าจะไม่ใช่ทางเลือกที่ชาญฉลาดนัก โดยเฉพาะเมื่อซีพีคือ “เป้าใหญ่” หลับตายิงก็ยัง “ถูก” อย่างที่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอซีพีเคยเปรียบเปรยเอาไว้

สำหรับดีลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้มือถือมากกว่า 80 ล้านเลขหมายทั่วประเทศแล้ว ยิ่งไม่โปร่งใส ยิ่งคลางแคลงใจ ลองใช้ กลยุทธ์ “จริงใจ” ในแบบของดีแทคดูบ้าง ก็ไม่น่าจะเสียหาย.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ