“ปิยสวัสดิ์” ลั่นการบินไทยพร้อมผงาด มั่นใจจะกลับมาฟื้นฟูกิจการได้ในปี 2568

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ปิยสวัสดิ์” ลั่นการบินไทยพร้อมผงาด มั่นใจจะกลับมาฟื้นฟูกิจการได้ในปี 2568

Date Time: 1 ก.ค. 2565 06:30 น.

Summary

  • ขณะนี้การบินไทยได้กลับมาเปิดบินในเส้นทางต่างๆมากขึ้นในภูมิภาคต่างๆทั้งในยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย พร้อมทั้งยังมีการขยายเที่ยวบินมากขึ้นอีกด้วย

Latest

ธุรกิจปี 2025 แข่งดุเดือด แนะองค์กรควรนำ AI มาช่วยเรื่องสื่อสารและนวัตกรรม

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ปีที่แล้วว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน มั่นใจว่าจะฟื้นฟูกิจการได้แล้วเสร็จภายในปี 2568

“ปัจจัยสำคัญมาจากการที่สามารถปรับโครงสร้างองค์กรได้ตามแผน ปรับลดต้นทุนในส่วนต่างๆ รวมทั้งลดจำนวนบุคลากร และสามารถลดค่าใช้จ่ายๆต่างๆที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันยังมีการขายสินทรัพย์ในบางส่วนมาช่วยสร้างรายได้ รวมทั้งผลจากการที่สถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กันมากขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆเริ่มหวนกลับมาเปิดประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินในทั่วโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัว เป็นอานิสงส์ให้การบินไทยมีรายได้กลับมาก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมในช่วงโควิด-19 มีรายได้เหลือเพียงเดือนละ 200-300 ล้านบาท (ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการขาย “ปาท่องโก๋”) แต่ขณะนี้เริ่มมีรายได้กลับมาเพิ่มมากขึ้นทั้งในส่วนของการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) และขนส่งผู้โดยสาร เป็นเดือนละประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะมีรายได้รวมประมาณ 80,000 ล้านบาท”

ขณะนี้การบินไทยได้กลับมาเปิดบินในเส้นทางต่างๆมากขึ้นในภูมิภาคต่างๆทั้งในยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย พร้อมทั้งยังมีการขยายเที่ยวบินมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งในทุกเที่ยวบินจะมีผู้โดยสารเต็มลำ แต่ยังมีบางประเทศที่ไม่สามารถบินได้ตามปกติ เช่น ญี่ปุ่นที่ยังบินได้ไม่ทุกเมืองที่เคยบิน และยังไม่สามารถบินได้เต็มลำ ส่วนจีนก็เพิ่งจะอนุญาตให้บินได้เพียง 1 เส้นทาง ซึ่งหากทั้งญี่ปุ่นและจีนกลับมาเปิดเส้นทางการบินได้ตามปกติเหมือนช่วงก่อนโควิดจะทำให้รายได้ของการบินไทยเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันการบินไทยได้ใช้เครื่องบินให้บริการอยู่ 61 ลำ ซึ่งมีแนวโน้มจะไม่เพียงพอกับจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น แต่การหาเครื่องบินมาเสริมในทันทีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จึงได้เปลี่ยนแผนจากเดิมที่ตั้งใจจะปลดระวางเครื่องบินจำนวน 5 ลำให้กลับมาใช้งานใหม่ ซึ่งทั้ง 5 ลำนี้จะต้องมีการปรับปรุงให้สามารถกลับมาบินได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ขณะเดียวกันก็จะมีการเตรียมการเช่าเครื่องบินลำใหม่ๆมาช่วยเสริมในช่วงไฮซีซัน โดยเดิมนั้นก่อนเกิดโควิด-19 การบินไทยจะมีการใช้เครื่องบินออกให้บริการประมาณ 100 ลำ ซึ่งหากได้ตามแผนก็จะทำให้การบินไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปีหน้ามั่นใจว่าจะมีรายได้ประมาณ 130,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งยังมาจากสินทรัพย์ในต่างประเทศอีกด้วย

พร้อมกันนี้ การบินไทยยังมีแผนปรับปรุงการตลาดให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย เช่นขณะนี้ได้ออกแพ็กเกจ “Time to Gold” เครดิตเงินสำหรับการชำระค่าบัตรโดยสาร (Air Ticket Cash Credit Voucher) ของการบินไทยและไทยสมายล์มูลค่า 350,000 บาท ที่สามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้ พร้อมรับสถานภาพสมาชิกบัตรทอง รอยัล ออร์คิด พลัส ทันที เป็นระยะเวลา 2 ปี (นับจากวันเริ่มต้นสถานภาพ) โดยเปิดตัวไม่นานก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว 700 ใบ

ด้านนายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย กล่าวว่าในส่วนของปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากสงครามในยูเครน ได้กระทบต่อต้นทุนของการบินไทยอย่างมาก เช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ จึงมีแผนว่าตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.นี้จะเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมของพลังงานหรือน้ำมัน (Fuel Charge) ในเส้นทางต่างๆ โดยช่วงระหว่างนี้หากผู้โดยสารยังจองตั๋วการบินไทยจะยังได้ราคาเดิม (เฉพาะเส้นทางต่างประเทศ) แต่หลังจาก 11 ก.ค. จะต้องเสียเพิ่มในส่วนของค่า Fuel Charge “สำหรับเส้นทางบินในยุโรปของการบินไทยไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้บินในเส้นทางนี้อยู่แล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการที่การบินไทยได้เริ่มฟื้นตัวทำให้การบินไทยมีกระแสเงินสดสะสมในปัจจุบันกว่า 10,000 ล้านบาท ผู้บริหารแผนจึงประเมินว่าเงินทุนใหม่ที่ต้องหาเพื่อบริหารกิจการช่วงฟื้นฟูกิจการจึงไม่ต้องสูงถึง 50,000 ล้านบาท โดยจะลดกรอบวงเงินจัดหาทุนใหม่เหลือ 25,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้การบินไทยต้องเสนอแผนใหม่ต่อศาลล้มละลายกลาง และขอจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไข.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ