เดอะวันเจ้าของช่องวัน 31 (One 31) เปิดโต๊ะเคลียร์เข้าซื้อหุ้นจีเอ็มเอ็ม 25 (GMM 25) คืนจากกลุ่มสิริดำรงธรรมในเครือไทยเบฟเบ็ดเสร็จ สิริรวมเงินซื้อหุ้นและขยายการลงทุน เพิ่มมูลค่า 2,200 ล้านบาท เชื่อ 2 ช่องผนึกกำลังโต แบ่งกลุ่มเป้าหมายชัดเจนและพร้อมผลิตคอนเทนต์ป้อนทุกช่องทาง ด้านไทยเบฟส่งสัญญาณหันไปโฟกัสที่ช่องอมรินทร์ทีวีเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2563 ผู้บริหารบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และบริษัทในเครือ นำทีมนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร นายระฟ้า ดำรงชัยธรรม น.ส.สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา นายสถาพร พาณิชรักษาพงศ์ นายสาโรจน์ วสุพงศ์โสธร และนายเอกชัย เอื้อครองธรรมเปิดแถลงข่าวกรณีเดอะวัน (ช่องวัน31) เข้าซื้อกิจการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด (ผู้ทำตลาดและร่วมผลิตรายการของช่องจีเอ็มเอ็ม 25) จากกลุ่มสิริดำรงธรรมของตระกูลสิริวัฒนภักดี (เจ้าของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจและเบียร์ช้าง) และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้สำเร็จภายใต้มูลค่าการเข้าซื้อหุ้นและขยายการลงทุนรวม 2,200 ล้านบาท
นายถกลเกียรติกล่าวว่า การซื้อกิจการครั้งนี้ เพื่อรวบรวมการผลิตคอนเทนต์หรือรายการทั้งหมดมาไว้ที่เดียวกัน เพราะกิจการ ที่ซื้อมานั้นต่างมีคอนเทนต์ที่สุดยอด เชื่อว่าจะสามารถรองรับการขยายธุรกิจ ที่ตั้งเป้าว่าจะเติบโตในทุกช่องทางทั้งปีหน้าและปีถัดไป โดยช่องวัน 31 จะเจาะกลุ่ม ตลาดทั่วไปหรือตลาดแมส ส่วนช่องจีเอ็มเอ็ม 25 นั้นจะเป็นของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เช่นเดิม และจะยังคงออกอากาศเช่นเดิม จากนี้ต่อไปรายการจะเน้นกลุ่มวัยรุ่น รายการเพลง และซีรีส์ที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น ดังนั้นช่องวัน 31 และช่อง จีเอ็มเอ็ม 25 จะแบ่งกลุ่มตลาดที่ชัดเจน โดยเดอะวันจะทำการตลาดและจัดหาลูกค้า รวมถึงการร่วมผลิตรายการให้กับช่องจีเอ็มเอ็ม 25 และผลิตให้กับช่องทางอื่นๆ ทั้งวิทยุและโอทีที (Over The Top) เหมือนกับปัจจุบันที่บริษัท เช้นจ์ 2561 จำกัดของพี่ฉอด-สายทิพย์ได้ผลิตละครให้หลายช่องอยู่แล้ว “การซื้อขายในครั้งนี้เจรจากันมาระยะหนึ่งแล้ว มีมูลค่าราว 2,200 ล้านบาท สำหรับเรื่องการกระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น หากมีโอกาสก็จะดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา”
ด้านนายระฟ้ากล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลขณะนี้หลายช่องทีวี เริ่มขยับอัตราราคาค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นแล้ว ฉะนั้นเชื่อว่าเม็ดเงินโฆษณาในทีวีดิจิทัลปีหน้าจะคึกคักและเพิ่มขึ้นกว่าปีนี้แน่ สวนทางกับที่มีการประเมินว่าคนจะดูทีวีดิจิทัลน้อยลงเรื่อยๆ แต่ความเป็นจริงแล้วคนดูทีวีก็ยังมีเช่นเดิม “การควบรวบกิจการครั้งนี้ ยังจะเพิ่มโอกาสขยายตลาดไปยังอาเซียน เอเชีย และระดับโลกต่อไป”
สำหรับโครงสร้างเดอะวันหลังการเข้าซื้อกิจการ ประกอบไปด้วยช่องวัน 31, เอ็กแซ็กท์ ซีเนริโอ, แอ็กซ์ สตูดิโอ, มีมิติ, จีเอ็มเอ็ม แชนแนล, จีเอ็มเอ็ม ทีวี, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ซึ่งรวมเอไทม์ มีเดีย, เช้นจ์ 2561, จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่วนจีเอ็มเอ็ม แชนแนล หรือช่องจีเอ็มเอ็ม 25 นั้น ยังมีจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ถือหุ้นทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่กลุ่มไทยเบฟถอนตัวออกจากช่องจีเอ็มเอ็ม 25 นั้น ไม่ได้เป็นการถอนตัว ออกจากธุรกิจทีวีดิจิทัลโดยสิ้นเชิง เพราะไทยเบฟยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในช่องอมรินทร์ทีวี หลังจากเมื่อปี 2559 ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากตระกูลอุทกะพันธุ์ มูลค่าราว 850 ล้านบาท ส่วนตอนที่เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน จากกลุ่มจีเอ็มเอ็มในช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เมื่อปี 2560 นั้น ใช้เงินประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ล่าสุดได้ขายหุ้นและหันมาโฟกัสที่ช่องอมรินทร์ทีวีเป็นหลัก.