ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เสนอทางเลือกให้เกษตรกรสูงอายุ ไม่มีทายาททําการเกษตรหรือไม่ประสงค์ทําการเกษตรสามารถคืนที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อให้นำไปจัดสรรใหม่ให้กับเกษตรกรที่ยากจน และไม่มีที่ดินทำกินได้ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะใช้งบจากกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีอยู่ 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือเงินสะสมรวม 4,200 ล้านบาท ไปจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรที่ต้องการคืนที่ดิน ส.ป.ก.ที่อัตรา 60% ของราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่ไม่เกินไร่ละ 60,000 บาท
สำหรับเกษตรกรที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก.อายุเฉลี่ยสูงขึ้น โดยอายุตั้งแต่ 51 ปีขึ้นไป มีจำนวน 1.51 ล้านคน หรือ 62.65% ของเกษตรกรทั้งหมดที่ถือครอง ส.ป.ก. รวม 21.44 ล้านไร่ หรือ 66.18% ของพื้นที่ ส.ป.ก.ทั่วประเทศ เกษตรกรที่อายุไม่เกิน 50 ปี มีจำนวน 273,748 คน สัดส่วน 11.32% ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. รวม 3.367 ล้านไร่ สัดส่วน 7.39% และจากการสำรวจที่ ส.ป.ก.ทั่วประเทศ ใน 72 จังหวัด รวม 39 ล้านไร่ ได้จัดสรรให้กับเกษตรกรแล้ว 35.9 ล้านไร่ มีเกษตรกรถือครอง 2.8 ล้านราย แบ่งที่ดิน 2.98 ล้านแปลง พบว่ามีความเหมาะสมทำการเกษตร 31.54 ล้านไร่ หรือ 85% ของที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งหมด แบ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมมากเพียง 7% เหมาะสมน้อย 19% และเหมาะสมปานกลาง 59% ส่วนที่เหลือไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร รัฐบาลจึงมีนโยบายใช้ที่ดินบางส่วนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ วังน้ำเขียว ดอยแม่สลอง
“การขยายตัวของเมือง เส้นทางคมนาคม ส่งผลให้ความเจริญขยายตัวสู่พื้นที่ ส.ป.ก. มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นจากนี้ไปการพิจารณาจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ให้เกษตรกรรายใหม่ อาจมีการพิจารณาให้เร็วขึ้น เพื่อให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถเข้าถึงที่ดินซึ่งเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ซึ่งการจัดการที่ดินให้เกษตรกรรายใหม่ ทั้งที่เป็นทายาทและไม่ใช่ทายาท ในอนาคตอาจให้เช่าระยะยาว 30-40 ปี”.