กกร.ระบุ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใช้จ่ายของรัฐบาล แรงน้อยพยุงไม่ไหว! โยนผ้าขาวปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ลงอีกเหลือ 2.7-3% มองไตรมาส 3 ขยายตัวอ่อนแรง วอนรัฐช่วยผู้ประกอบการสู้พิษน้ำท่วม หลังกระทบเศรษฐกิจกว่า 2.5 หมื่นล้าน ด้าน ธปท.ชี้ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่แนวโน้มผู้ประกอบการจ้างงานลดลง
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.มีมติปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 2.7-3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.9-3.3% ขณะที่การส่งออกคาดการณ์ว่าอยู่ที่ 0% ถึงติดลบ 2% จากเดิมคาดติดลบ 1 ถึงโต 1% ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อคงอยู่ที่ระดับ 0.8-1.2% หลังจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ยังอยู่ในภาวะอ่อนแรงอย่างชัดเจน และเป็นการอ่อนแรงที่ต่อเนื่องจาก 2 ไตรมาสแรกของปีนี้
“การอ่อนแรงของสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยดังกล่าว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกยังคงหดตัวเป็นวงกว้าง ทั้งรายการสินค้าและตลาดส่งออกหลักของไทยในทั่วโลก นอกจากนั้นสถานการณ์ทั้งหมดนี้ยังมีความไม่แน่นอนและยืดเยื้อยาวนาน ประกอบกับแรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศก็ยังอ่อนกำลังลง ทั้งการบริโภคและการลงทุน มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ 3 ไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา”
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเสียหายและกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 25,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร และจากการหารือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนต้องการให้ภาครัฐลด โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) งดการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องถิ่นทุกชนิด เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีป้ายเป็นเวลา 1 ปี ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะเดียวกัน ยังต้องการขอให้รัฐบาลลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอีในพื้นที่ประสบภัยที่ยังมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน และขอให้รัฐสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อซ่อมแซมเครื่องจักรและฟื้นฟูสถานประกอบการ ดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 1% หรือต่ำกว่าเป็นเวลานาน 2 ปี ขณะที่ภาคเอกชนจะช่วยเหลือเรื่องวัสดุก่อสร้าง
นายกลินท์ กล่าวด้วยว่า แม้รัฐบาลจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายๆด้าน เช่น มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และมาตรการชิม ช้อป ใช้ ที่ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่ กกร.คาดว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1-0.2% เท่านั้น โดยภาคเอกชนคาดหวังที่จะเห็นมาตรการเสริมจากรัฐบาลเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเร่งผลักดันกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อรับมือกับความท้าทาย ที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ก.ย.2562 โดยอยู่ที่ระดับ 47.9 ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคการผลิตที่ลดลงเป็นสำคัญ นำโดยกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ กลุ่มผลิตปิโตรเลียม เคมี ยาง และ พลาสติก และกลุ่มผลิตอาหารเครื่องดื่ม ตามคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง สะท้อนถึงความเปราะบางที่มากขึ้นในภาคการผลิตหลังเศรษฐกิจของคู่ค้าและไทยชะลอตัว
ส่วนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ทรงตัวที่ 54.1 โดยระดับความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิตใกล้เคียงกับเดือนก่อน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมองว่าธุรกิจจะยังขยายตัวได้ โดยความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและการผลิตปรับดีขึ้นเล็กน้อย ขณะที่มุมมองด้านการจ้างงานปรับลดลง สะท้อนจากสัดส่วนของผู้ประกอบการที่ตอบว่าจะจ้างงานใหม่ปรับลดลงในอนาคต.