กรมการค้าภายใน รุกคืบจ่อถกทันตแพทยสภาคุมรักษาฟัน หลังพบค่าทำฟัน จัดฟัน แพงมาก เตรียมเรียกโรงพยาบาลเอกชน 48 แห่ง ชี้แจงหลังยังไม่ส่งข้อมูลยา ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ค.โต 0.98% ยังไม่แย่ แต่รัฐควรเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เร็วๆนี้ กรมจะทำหนังสือไปยังทันตแพทยสภาเพื่อหารือเกี่ยวกับต้นทุนการรักษาฟันในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากค่ารักษาฟันถือเป็นส่วนหนึ่งในค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดมาตรการกำกับดูแล รวมทั้งในขณะนี้ค่าทำฟันราคาสูงมาก โดยเฉพาะการจัดฟัน ทำฟันปลอม ทำรากฟันเทียม เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีประชาชนร้องเรียนเรื่องราคารักษาที่สูงเกินจริงมายังกรมอย่างเป็นทางการ แต่มีคนมาร้องเรียนให้เข้าไปดูแล เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มาจัดทำฟัน หรือผู้สูงอายุทำรากฟันเทียม หรือสวมฟันปลอม โดยเบื้องต้นกรมจะดูแลเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน และในอนาคตอาจจะขยายไปสู่การรักษาฟันในคลินิกด้วย
“เรื่องการดูแลต้นทุนการทำฟันนั้น กรมคงต้องขอความรู้จากทันตแพทยสภาก่อน แต่ที่ทราบราคาแพงมาก เช่น จัดฟันราคา 50,000 บาท หรือทำรากฟันเทียม 60,000-70,000 บาท ซึ่งนอกจากทันตแพทยสภาแล้ว ในอนาคตก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาเป็นที่ปรึกษาด้วย เพราะเชื่อว่าจะมีประชาชนร้องเรียนแน่นอน”
สำหรับโรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่ง ที่ต้องส่งข้อมูลราคาซื้อ ขายยามาให้กรมภายในวันที่ 31 ก.ค.62 ตามประกาศ กกร.ฉบับที่ 52 จนถึงขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนส่งข้อมูลมาให้กรมตามที่กำหนด 305 ราย ยังเหลืออีก 48 แห่งที่ไม่ส่งข้อมูลมาให้กรมในฐานะเลขานุการ กกร. จะทำหนังสือแจ้งให้มาชี้แจงต่อไป
วันเดียวกัน นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ว่า เดือน ก.ค.62 ดัชนีเท่ากับ 103 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 0.98% และเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.62 สูงขึ้น 0.06% ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 62 สูงขึ้น 0.92% ซึ่งยังคงเป็นไปตามประมาณการของกระทรวงพาณิชย์ว่า ปีนี้เงินเฟ้อจะขยายตัว 0.7-1.3% เงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ก.ค.62 เท่ากับ 102.52 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.03% และขยายตัว 0.41% หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
สำหรับราคาสินค้าที่สูงขึ้น ผักสด สูงขึ้น 20.01% จากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พืชผักเน่าเสียง่าย ประกอบกับราคาฐานปี 61 ต่ำ ผลไม้สด สูงขึ้น 9.18% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 5.73%, ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 4.02% ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 1.80%, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.90% อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้น 0.80% และ 1.12% ตามลำดับ รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ ที่สูงขึ้น 5.91% ขณะเดียวกันหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.42% ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) รวมทั้งหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ที่ลดลง 0.87% โดยเฉพาะของใช้ส่วนบุคคล แชมพู แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยไม่ได้แย่มาก แต่ยังทรงๆ และยังไม่มีสัญญาณการขยายตัวที่รวดเร็วและรุนแรง รัฐบาลควรเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพราะขณะนี้สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกชะลอตัวนั้น เริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วง 1-2 เดือนนี้.