2 องค์กรมองต่างมุม “ส่งออก”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

2 องค์กรมองต่างมุม “ส่งออก”

Date Time: 1 ส.ค. 2562 08:35 น.

Summary

  • นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าส่งออกของไทยหดตัว 2.9%

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าส่งออกของไทยหดตัว 2.9% เป็นผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังยืดเยื้อ ทำให้สินค้าส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนหดตัว อาทิ คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สำหรับสินค้าความหวังที่จะช่วยพยุงการส่งออก 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้มี 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสินค้าดาวรุ่ง 2.กลุ่มสินค้าที่ได้อานิสงส์จากสงครามการค้า 3.กลุ่มสินค้าที่หนีไปตลาดหลบภัย 4.กลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเดิมในตลาดใหม่ๆ รวมถึงการมีรัฐบาลชุดใหม่, สงครามการค้ายุติลงชั่วคราว, ประเทศไทยมีตลาดส่งออกใหม่ๆ อาทิ อินเดีย แอฟริกา ยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา นอกเหนือจากตลาดปัจจุบันคือ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) เชื่อว่าทำให้มูลค่าส่งออกตลอดทั้งปี กลับมาเติบโต 0.2%

สำหรับกลุ่มสินค้าที่เป็นความหวัง ได้แก่ 1.สินค้าดาวรุ่ง คือ สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารแปรรูป ผักและผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส เครื่องสำอาง ซึ่งได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยว 2.กลุ่มสินค้าที่ได้อานิสงส์จากสงครามการค้า โดยสินค้าไทยที่ผลิตคล้ายกับสินค้าจีน สามารถแทรกตัวเข้าไปเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯได้ อาทิ ของเล่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น 3.กลุ่มสินค้าที่แข่งขันได้ในระยะสั้น เนื่องจากการปรับตัวของผู้ประกอบการ อาทิ กลุ่มสินค้าที่หนีไปตลาดหลบภัยเพื่อทดแทนตลาดจีนเช่น คอมพิวเตอร์ ที่ขยายตัวสูงในตลาดอินเดีย เม็กซิโก, แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวสูงในตลาดเม็กซิโก เบลเยียม 4.กลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเดิมในตลาดใหม่ๆ เช่น การส่งออก ยางพารา ที่หดตัวจากความต้องการของจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของไทย แต่ปัจจุบันขยายตัวได้ดีในตลาดยุโรปตะวันออก แคนาดา

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย. เป็นเดือนที่ชะลอตัวแทบทุกหมวด ยกเว้นการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. ส่วนการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และการนำเข้าเดือน ก.ค.ที่ชะลอตัวลงมาก ทำให้การส่งออกเดือน ก.ค.-ส.ค. ซึ่งเดิมคาดว่าจะฟื้นตัวในระยะสั้นๆไม่เกิดขึ้น เป็นไปได้ว่าการส่งออกตลอดทั้งปีนี้ เดิมคาดว่าขยายตัว 0% อาจเปลี่ยนเป็นติดลบ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ