นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาราคายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เปิดเผยถึงการขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต-นำเข้ายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงร้านจำหน่ายรายใหญ่ ส่งข้อมูลราคาซื้อ-ขาย มาให้กรมภายในวันที่ 4 เม.ย.นี้ ว่า จนถึงขณะนี้ มีผู้ส่งข้อมูลมาให้แล้วร้อยกว่ารายเท่านั้น จากโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดที่กรมส่งหนังสือแจ้งไป 353 ราย รวมถึงผู้ผลิต และผู้นำเข้ายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ 339 ราย
หากครบกำหนด กรมจะนำรายชื่อผู้ให้ความร่วมมือมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรม เพื่อให้สังคมทราบว่า เป็นผู้ประกอบการที่มีความโปร่งใส และให้ความร่วมมือกับทางการ ส่วนรายใดส่งไม่ทัน หรือไม่ส่ง กรมจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ คณะทำงานจะสรุปข้อมูล และพิจารณามาตรการที่จะใช้กำกับดูแลราคา โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแล ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธานเห็นชอบต่อไป
สำหรับมาตรการที่จะใช้กำกับดูแล จะมีทั้งกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ต้องเปิดเผยราคายา เวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆให้ประชาชนทราบและเห็นชัดเจน เช่น เว็บไซต์โรงพยาบาล โดยต้องเป็นราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนราคาซื้อ-ขายที่ได้ส่งมาให้กรม ไม่ใช่นำค่าใช้จ่ายอื่นๆมารวมด้วย เช่น ค่าที่ดิน ค่าเภสัชกร ค่าเก็บสต๊อก ฯลฯ โดยสาเหตุหนึ่งที่โรงพยาบาลไม่สามารถส่งข้อมูลซื้อ-ขายมาให้กรม ส่วนหนึ่งอ้างว่าไม่สามารถแยกราคายาออกจากค่าใช้จ่ายอื่นๆได้ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ป่วย รวมถึงในการสั่งจ่ายยา แพทย์ต้องสั่งจ่ายยาโดยระบุทั้งชื่อทางการค้า และชื่อทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากภายนอกได้
“ถ้า กกร.เห็นชอบ จะออกประกาศให้โรงพยาบาลดำเนินการตาม โดยต้องเผยแพร่ราคาให้ชัดเจน สอดคล้องกับต้นทุนที่ส่งมาให้กรม ราคายาก็คือราคายา ที่ไม่ใช่เอาค่าใช้จ่ายอื่นๆมารวมด้วย หากฝ่าฝืนจะมีความผิด เช่น ถ้าขายยาราคาสูงเกินจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ”.