ความพยายามในการปราบปราม “หนี้นอกระบบ” เกิดขึ้นมาตลอดการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไทยในหลายยุคหลายสมัย
ที่เห็นเด่นชัดหนีไม่พ้นเมื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยขูดเลือดเดือนละ 10-30% เจ้าหนี้หฤโหด ผ่านนโยบายกองทุนหมู่บ้านอันโด่งดัง
เรื่อยเรียงจนมาถึงเมื่อปี 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ริเริ่มสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ หรือที่เรียกกันว่านาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็กได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยถูกได้ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน
และต่อมาในเดือน ธ.ค.2559 ได้มีการเปิดตัวสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับหรือพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) ซึ่งเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์สำหรับคนทั่วไปได้กู้ยืมไปใช้จ่าย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแต่ต้องมีทะเบียนบ้าน หรือที่อยู่อาศัยปัจจุบัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2562 คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขการปล่อยกู้พิโกไฟแนนซ์ โดยขยายวงเงินจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับความ ต้องการในการใช้เงินของประชาชน และต่อสู้กับหนี้นอกระบบได้อย่างถึงพริกถึงขิงมากขึ้น
และนี่คือสิ่งที่ “ลูกหนี้มืออาชีพ” พึงเรียนรู้เพื่อหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบให้ได้
แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหาตลอดหลายสมัยของรัฐบาลที่ผ่านมา ปัญหา “หนี้นอกระบบ” ยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา เฉพาะปี 2561 ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 12.55 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้นอกระบบเป็นเท่าไรนั้น ไม่มีใครสามารถตรวจสอบ วัดจำนวนได้อย่างชัดเจน
แต่หนี้นอกระบบถือเป็นปัญหากัดกร่อนระดับสังคม สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมของคนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งไร้โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้องหันไปพึ่งพา หยิบยืมจากเจ้าหนี้นอกระบบ ถูกรีดนาทาเร้น เค้นเลือดปูด้วยการคิดดอกเบี้ยรายวัน รายเดือนสูงลิบลิ่ว หากไม่มีเงินใช้หนี้ ก็จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามทวงให้ได้อาย ขณะที่บางรายต้องใช้หนี้ด้วยชีวิต
รัฐบาลจึงต้องหาวิธีดึงคนที่ยังกู้หนี้ยืมสินนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบถูกต้อง โดยได้ออกสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ หรือนาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็กได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยถูก และสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) ซึ่งเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่เดือดร้อนด้านการเงิน
เริ่มจากนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นสินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาเพื่อนำเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ไม่มีเอกสารหลักฐานที่ใช้แสดงแหล่งที่มาของรายได้อย่างชัดเจน รวมทั้งไม่มีสินทรัพย์ที่จะนำมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน หรือไม่เคยมีข้อมูลที่สามารถแสดงประวัติในการชำระหนี้ มาขอสินเชื่อได้
สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท กำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ รวมกันสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี ขณะที่ผู้ประกอบการที่จะให้บริการนาโนไฟแนนซ์ต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และสามารถปล่อยกู้ได้ไม่จำกัดพื้นที่บริการ
ทั้งนี้ ล่าสุด สิ้นเดือน ม.ค.2562 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 32 ราย มีจำนวนบัญชีรวมทั้งหมดที่ได้รับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 2.15 ล้านบัญชี มียอดสินเชื่อ
คงค้างทั้งสิ้น 37,287 ล้านบาท ยอดหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ถึงสิ้นปี 2561 ทั้งสิ้น 803 ล้านบาท หรือ 2.25% ของสินเชื่อที่ปล่อยรวม
ขณะที่พิโกไฟแนนซ์กำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง เป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ให้กับบุคคลธรรมดาทั่วไปกู้ยืมไปทำกิจกรรมต่างๆได้ โดยผู้ประกอบการปล่อยกู้พิโกไฟแนนซ์ต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท วงเงินให้กู้ยืมต้องไม่เกินรายละ 50,000 บาท และสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย 36% ต่อปี
โดยผู้กู้จะมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้ แต่จะต้องมีทะเบียนบ้าน หรือที่อยู่อาศัยปัจจุบัน หรือทำงานภายในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของผู้ให้กู้ตั้งอยู่ โดยสามารถขอสินเชื่อได้ผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
อย่างไรก็ตาม หลังจากดำเนินการไประยะหนึ่งพบว่า ประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และบางคนยังมีหนี้นอกระบบมากกว่า 50,000 บาท ดังนั้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงเห็นชอบให้กระทรวงการคลังปรับปรุงเงื่อนไขการปล่อยกู้ของผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการใช้เงินของประชาชนและเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้หมดไป
โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จากเดิมกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ต้องมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และสามารถปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย ภายใต้เพดานอัตราดอกเบี้ย 36% ต่อปี
เปลี่ยนเป็นกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ขยายวงเงินปล่อยกู้ได้ถึง 100,000 บาทต่อราย แต่ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท พร้อมกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้วงเงิน 50,000 บาทแรก ที่อัตรา 36% ต่อปี ส่วนวงเงินสินเชื่อ 50,000 บาทถัดมาคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกิน 28% ต่อปี
โดยหลักเกณฑ์ที่ขยายให้ผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ได้ถึง 100,000 บาทต่อรายนั้น นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ลงนามแล้ว และเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ ณ เดือน ม.ค.2562 มียอดสินเชื่อคงค้างของสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคลรวมกันมีมูลค่ากว่า 254,000 ล้านบาท มีบัญชีเงินกู้รวมกัน 13.9 ล้านบัญชี ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนสนใจกู้เงินในระบบเพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ปี 2560 ระบุว่า มีผู้มีรายได้น้อยหรือผู้มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท ที่เป็นหนี้นอกระบบ จำนวน 1.26 ล้านราย จากจำนวนทั้งหมด 11.4 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 68,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยมีหนี้ต่อราย 54,000 บาท
โดยรัฐบาลคาดว่าสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และช่วยลดจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่เป็นหนี้นอกระบบได้ 1.16 ล้านราย หรือ 92%
ซึ่งนับตั้งแต่มีปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในเดือน ธ.ค.2559 จนถึงเดือน ก.พ.2562 มีจำนวนนิติบุคคลยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 927 ราย ใน 74 จังหวัด และมีผู้ได้รับใบอนุญาตทั้งสิ้น 516 ราย ใน 66 จังหวัด มีการเปิดดำเนินการแล้ว 382 ราย ใน 64 จังหวัด และมีการปล่อยกู้แล้ว 508 ราย ใน 66 จังหวัด
โดยภาคตะวันออกเฉียง-เหนือ หรือภาคอีสานมีการขอสินเชื่อสูงที่สุดในประเทศ เพราะคนในภาคอีสานมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย
ขณะที่ยอดการปล่อยสินเชื่อ ณ สิ้นเดือน ม.ค.2562 อยู่ที่ 60,273 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 1,678 ล้านบาท
เฉลี่ยแล้วปล่อยกู้รายละ 27,840 บาท เป็นลูกค้าหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล 588 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 18.54 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ยอดสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถให้บริการสินเชื่อ โดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือที่เรียกว่า “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” เป็นหลักประกันในวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทได้ เรียกว่าปล่อยกู้เพิ่มขึ้นได้ เพราะมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน
นอกจากนั้น ยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นยังมาจากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 2560 และปี 2561 รวมวงเงินทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท โดยกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพกู้ได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน ซึ่ง ณ สิ้นเดือน ก.พ.2562 มีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 485,710 ราย เป็นจำนวนเงิน 22,646 ล้านบาท โดยคาดหวังว่าการช่วยเหลือทางด้าน “สินเชื่อ” จะเป็นอีกทางหนึ่งเพื่อที่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้หมดสิ้นไป ประชาชนจะได้ไม่ต้องอยู่ในวังวน ปัญหาเดิมๆ คุณภาพชีวิตจะได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม การแก้หนี้นอกระบบด้วยการนำหนี้เข้ามาอยู่ในระบบนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะที่สุดครัวเรือนยังคงต้องแบกภาระหนี้อยู่ ในทางตรงกันข้าม ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวน “หนี้ครัวเรือน” ที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง และอาจจะส่งผลกระทบฐานะการเงินของครัวเรือนไทยในอนาคต ทั้งความสามารถในการใช้จ่าย และความสามารถในการชำระหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย
โดยตัวเลขเงินให้กู้ยืมต่อภาคครัวเรือน ล่าสุด ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 12.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ 140,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
และสินเชื่อที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วในปีที่ผ่านมา หลังจากการผ่อนส่งรถยนต์ตามโครงการรถคันแรกสิ้นสุดลงในช่วงปี 2561 ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน.
จากการลงพื้นที่ในหลายจังหวัดพบว่า ประชาชนจำนวนมากที่เคยกู้เงินนอกระบบ ซึ่งเสียอัตราดอกเบี้ย
แพงมาก เดือนละ 10-20% หรือบางรายสูงถึง 30% ต่อเดือน ได้เปลี่ยนมากู้เงินกับพิโกไฟแนนซ์มากขึ้น เนื่องจากพิโกไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อฉุกเฉิน สามารถนำเงินกู้ไปใช้จ่ายส่วนตัวได้ เช่น ค่าเทอมบุตร การรักษาพยาบาล ใช้หนี้คืนเงินกู้นอกระบบ หรือนำเงินไปลงทุนในกิจการเล็กๆน้อยๆได้
โดยผู้กู้จะสามารถกู้เงินจากพิโกไฟแนนซ์ได้ไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 36% ต่อปี หรือประมาณ 3% ต่อเดือน ถูกกว่าเงินกู้นอกระบบหลายเท่าตัว ที่สำคัญผู้กู้จะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้ ซึ่งประเด็นนี้ ทำให้ผู้กู้มีความคล่องตัวและความรวดเร็วในการกู้เงินมากขึ้น
“ที่ผ่านมามีบริษัทที่ให้บริการพิโกไฟแนนซ์และผู้กู้จำนวนมากขอให้กระทรวงการคลังผ่อนปรนเงื่อนไข โดยขอให้สามารถกู้เงินได้มากกว่า 50,000 บาท เนื่องจากมีหนี้นอกระบบมากเกินกว่า 50,000 บาท ดังนั้นหากพิโกไฟแนนซ์ กำหนดวงเงินกู้เพียง 50,000 บาท ก็จะไม่สามารถแก้หนี้นอกระบบได้ทั้งหมด จึงขอให้ขยายกรอบวงเงินกู้เป็นไม่เกิน 100,000 บาท โดยวงเงินที่เกินกว่า 50,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทนั้น จะเสียอัตราดอกเบี้ย 28% ต่อปี หรือประมาณ 2% ต่อเดือน”
การผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่า ประชาชนที่มีหนี้นอกระบบจะหันมากู้เงินพิโกไฟแนนซ์มากขึ้น ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้พิโกไฟแนนซ์เป็นที่พึ่งของประชาชนที่ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินให้มีทางเลือกมากขึ้น หากเกิดความเดือดร้อนก็สามารถกู้เงินจากพิโกไฟแนนซ์ได้ทันที
สำหรับข้อดีของพิโกไฟแนนซ์คือ ผู้ปล่อยกู้จะปล่อยกู้ภายในชุมชนที่กำหนดขอบเขต จะไม่มีการปล่อยกู้นอกเขต ซึ่งแตกต่างจากสถาบันการเงิน หรือนาโนไฟแนนซ์ ที่สามารถปล่อยกู้ได้ทั่วประเทศ จึงทำให้ผู้กู้และผู้ปล่อยกู้มีความใกล้ชิดหรือรู้จักกันมาก่อน เนื่องจากมีที่อยู่อาศัยและทำมาหากินอยู่ในเขตชุมชนเดียวกัน จึงไม่มีการทวงหนี้โหดเหมือนกับติดหนี้นอกระบบ
โดยจะเห็นว่ายอดเงินกู้ของพิโกไฟแนนซ์สะสมในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา มียอดปล่อยกู้ 1,000 กว่าล้านบาท ปล่อยกู้เฉลี่ย 27,000 บาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพียง 18 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากมีความต้องการใช้เงินหลักหมื่นบาท และค่อยๆทยอยปล่อยกู้เพิ่มจากวงเงินเล็กๆ เช่น 5,000 บาทต่อครั้ง เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 บาท หรือ 20,000 บาทต่อครั้ง หากมีความสามารถในการชำระหนี้คืน ก็จะปล่อยกู้ใหม่ในวงเงินที่เพิ่มขึ้น
ประเด็นดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงเป็นสิ่งที่คิดว่าเดินมาถูกทางแล้ว เพราะลักษณะของการปล่อยกู้และการชำระหนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก หรือที่เรียกว่า “การรักษาวินัยการเงิน” นั่นเอง
ขณะที่นาโนไฟแนนซ์มียอดปล่อยกู้สะสมมากกว่า 50,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าระดับการกู้เงินของพิโกไฟแนนซ์จะเกาะกลุ่มระดับชาวบ้านที่มีความเดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่เป็นการลงทุนเพื่อทำธุรกิจหลักล้านบาท ทำให้หนี้เอ็นพีแอลของพิโกไฟแนนซ์มีแค่หลักสิบล้านบาทเท่านั้น.
ทีมเศรษฐกิจ