นายกฯเบรกประมูลดิวตี้ฟรี

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

นายกฯเบรกประมูลดิวตี้ฟรี

Date Time: 16 มี.ค. 2562 05:30 น.

Summary

  • “บิ๊กตู่” สั่งทบทวนประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรีสนามบิน “สมคิด” ยันนายกฯไม่ได้เบรก แต่ให้ “อาคม” ไปดูการออกทีโออาร์ลัดขั้นตอนหรือไม่

Latest

เจาะกลยุทธ์ “เดนทิสเต้” ต่อสัญญา “ลิซ่า” แบรนด์แอมบาสเดอร์ปีที่ 3 ทุ่ม 200 ล้านจัดแฟนมีต 3 ชั่วโมง

“อาคม”สั่งทบทวนใน30วัน

“บิ๊กตู่” สั่งทบทวนประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรีสนามบิน “สมคิด” ยันนายกฯไม่ได้เบรก แต่ให้ “อาคม” ไปดูการออกทีโออาร์ลัดขั้นตอนหรือไม่ ขณะที่ “อาคม” สั่ง ทอท.ชะลอประมูล ส่วน ทอท. เดินหน้าประมูลต่อ แจงทำตามข้อมูลรอบด้าน พร้อมเปิดแถลงข่าววันจันทร์ที่ 18 มี.ค.นี้ ปลัดคลัง ยันไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบแนวทางการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรีของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เลือกใช้รูปแบบเปิดประมูล แบบสัญญาเดียว และรวบสัญญาดิวตี้ฟรีท่าอากาศยานทั้ง 4 แห่ง เป็นสัญญาเดียว โดยระบุว่า

“รัฐบาลได้รับฟังข้อห่วงใยจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการผูกขาด จึงอยากให้คณะกรรมการ ทอท. และผู้บริหาร ทอท. พิจารณาทบทวนแนวทางการประมูลดังกล่าว โดยคำนึงถึงข้อท้วงติงของสังคมและประโยชน์ที่ ทอท. และประเทศชาติจะได้รับอย่างรอบด้าน”

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลจะหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุด โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปติดตามกำกับดูแลและร่วมหาแนวทางที่ดีที่สุดกับ ทอท.โดยเร่งด่วน

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อห่วงใยของนายกฯถึงการเปิดประมูลร้านดิวตี้ฟรี ว่า นายกฯไม่ได้เบรก แต่ให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ไปดูว่าการออกร่างขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) ลัดขั้นตอนตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งได้กำชับกระทรวงคมนาคมไปแล้วว่าทุกอย่างต้องโปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งตนกำชับไปแล้ว ยอมรับว่าเมื่อมีข่าวลักษณะนี้ออกมา ทุกฝ่ายก็เป็นห่วง โดยเฉพาะพื้นที่ดิวตี้ฟรี จึงต้องย้ำว่าทุกอย่างต้องโปร่งใส และ ทอท.ก็ต้องการให้โปร่งใสอยู่แล้ว

“อาคม” เบรก ทอท.ชะลอประมูล

นายอาคม กล่าวภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหาร ทอท.ว่า ได้สั่งการให้ ทอท. ชะลอการประมูลทั้ง 2 โครงการออกไปก่อน เนื่องจากยังมีข้อห่วงใยจากหลายฝ่าย ซึ่ง ทอท.ต้องชี้แจงให้เกิดความชัดเจนก่อน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งหลังจากนี้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.จะต้องกลับไปหารือกับบอร์ด ทอท. เพื่อให้พิจารณารูปแบบการประมูล 2 โครงการใหม่ โดยนำข้อห่วงใยของทุกภาคส่วนไปประกอบการพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ ทอท.ต้องไปหารือกับกระทรวงการคลังว่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือไม่ หากไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ดังกล่าว

กระทรวงการคลังจะต้องพิจารณาว่า ทอท.ต้องทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการกลาง 4 ฝ่าย หรือไม่ “ถ้าไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 62 ก็ต้องตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อจัดทำกลไกการให้เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินให้เกิดความโปร่งใส โดยจะต้องสรุปผลเสนอให้ ครม.พิจารณาภายใน 30 วัน”

ทอท.ไม่สนเดินหน้าต่อ

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวยืนยันว่า ก่อนที่จะเปิดประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในร้านค้าปลอดอากร ใน 4 สนามบิน และ ร้านค้าเชิงพาณิชย์ ในสนามบินสุวรรณภูมิที่มีขึ้นในวันที่ 19 มี.ค.62 นั้น ทอท.ได้ศึกษาอย่างรอบด้านแล้ว ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562 และได้ดำเนินการตามมติ ครม. ที่ต้องตั้งคณะกรรมการกลางอย่างครบถ้วนแล้ว ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายโต้แย้งว่า ทั้ง 2 กิจการเกี่ยวเนื่องกับกิจการท่าอากาศยานนั้น จากการพิจารณาเห็นว่า การทำดิวตี้ฟรี และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นกิจการที่ทำให้การดำเนินการท่าอากาศยานบรรลุวัตถุประสงค์ หาก ทอท.จะยกเลิก 2 โครงการนี้

ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการสนามบิน เพราะยังคงให้บริการได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน

ดังนั้นการเปิดประมูลเพื่อหาเอกชนเข้ามาดำเนินการในร้านค้าปลอดอากร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทอท. จะไม่ยกเลิกการออกประกาศเชิญชวน และยังคงเดินหน้าต่อไป รวมทั้งไม่จำเป็นต้องหารือกับกระทรวงการคลัง เนื่องจากก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีความเห็นว่า สามารถดำเนินการโครงการต่อเนื่องได้เลย ส่วนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากการประชาสัมพันธ์ของ ทอท.เอง ดังนั้น ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ทอท.จะเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การนำพื้นที่หรือทรัพย์สินบางส่วนของ ทอท. ออกมาให้เอกชนประมูลนั้น ไม่เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562 แต่อย่างใด เนื่องจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯฉบับดังกล่าว จะบังคับเกี่ยวกับการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น อาทิ การก่อสร้างรถไฟ การสร้างเขื่อน การสร้างถนน การสร้างทางด่วน เป็นต้น และ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใหม่นี้ เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนในกิจการของรัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น และสามารถตรวจสอบได้

“สนามบินถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หากไม่มีดิวตี้ฟรี ก็ไม่กระทบต่อการให้บริการของสนามบิน เครื่องบินยังบินขึ้นลงได้ตามปกติ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เข้าข่ายเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะไม่ได้กระทบต่อการบริการของสนามบิน มีหรือไม่มีดิวตี้ฟรี สนามบินก็ให้บริการได้”

ไม่มีอำนาจก้าวล่วง

นายสกล วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวว่า การประมูลดิวตี้ฟรี ในสนามบินทั้ง 4 แห่ง จะต้องมองทั้งระบบ ตั้งแต่จำนวนสนามบิน ระยะเวลาดำเนินการ ผลประโยชน์ของประเทศที่จะได้รับ นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ฯลฯ ไม่ใช่มองแค่เพียงว่า จะแยกสัญญาเป็น 4 สัญญาตามพื้นที่ของสนามบินทั้ง 4 แห่ง หรือจะรวมเป็นสัญญาเดียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ ทอท.ดำเนินการ แต่ในส่วนของ กขค. มีอำนาจได้เพียงแค่เฝ้าระวังว่าการประมูลให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม หรือเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกรายแข่งขันหรือไม่ เท่านั้น “คณะกรรมการฯไม่มีอำนาจก้าวล่วงการทำงานของ ทอท. เพราะ ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีมติ ครม. ให้ดำเนินการคณะกรรมการฯมีอำนาจหน้าที่เพียงแค่เฝ้าระวังไม่ให้เกิดพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่ให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และให้คำแนะนำได้เท่านั้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ