น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ...และรอการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ
“ขอย้ำว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์นั้น เป็นกฎหมายที่นำมาใช้สำหรับระบบคอมพิวเตอร์ ยกตัวอย่างกรณีมีการเจาะระบบหรือทำลายระบบบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร ทำให้ใช้งานไม่ได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าของธนาคารก็จะนำ พ.ร.บ.ไซเบอร์มาใช้ เพื่อป้องกันและรับมือ แก้ปัญหาทำให้ระบบเอทีเอ็มกลับมาใช้งานและเปิดให้บริการได้ ซึ่ง พ.ร.บ.ไซเบอร์นั้น ไม่เกี่ยวกับการใช้มือถือของประชาชนแต่อย่างใด และไม่ได้ละเมิดสิทธิประชาชน เพราะเรื่องการโพสต์ข้อความต่างๆผ่าน
โซเชียลมีเดียนั้น หากมีการโพสต์ที่หมิ่นประมาท หรือสร้างความเสียหายต่อบุคคลอื่นก็เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 อยู่แล้ว”
สำหรับ พ.ร.บ.ไซเบอร์นั้น มีไว้เพื่อป้องกัน รับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงทีที่เกิดการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน หรือความสงบเรียบร้อยในประเทศ เช่น มีการส่งไวรัส มัลแวร์ มีการโจมตีระบบจากอาชญากรคอมพิวเตอร์ (แฮกเกอร์) มายังระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคาร การเงิน การสื่อสารโทรคมนาคม สาธารณสุข พลังงาน และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่นๆ จนไม่สามารถให้บริการประชาชนได้นั้น ถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที.