“ชาญศิลป์” คุยลั่นทุ่งปีหมูทอง ทั้งกลุ่ม ปตท.เทงบลงทุนรวม 450,000 ล้านบาท สร้างความมั่งคั่งทางพลังงานของประเทศไทย จ่อละเลงงบลงทุนในอีอีซีปีละ 3-4 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับประเทศในรอบหลายทศวรรษ ส่วนแผนเฉพาะ ปตท.รอบ 5 ปี ลงทุน 1.6 แสนล้านบาท เน้นดูแลสังคมชุมชน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้กลุ่ม ปตท.ทั้งหมดจะเพิ่มการลงทุนเป็น 450,000 ล้านบาทเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ แบ่งเป็นการลงทุนของ ปตท. 130,000 ล้านบาท และการลงทุนของทั้งเครือ 320,000 ล้านบาท แบ่งเป็น บริษัท โกลบอล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี 140,000 ล้านบาท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. 60,000 ล้านบาท บริษัท โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี 50,000 ล้านบาท เป็นต้น เนื่องจากมีโครงการที่รอลงทุนเพิ่มเติม อาทิ สร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) สร้างท่อก๊าซเส้นที่ 5 เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตก และขยายเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของทั้งกลุ่ม ปตท.จะอยู่ที่ปีละ 300,000-400,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลให้ได้ตามเป้าหมายเพื่อยกระดับประเทศไทยครั้งสำคัญในรอบทศวรรษ และในเดือน ก.พ.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ปตท. ซึ่งจะมีการหารือเพื่อศึกษาแนวทางการที่จะเข้าร่วมประมูลโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ในโครงการที่เหลือได้แก่ 6 ประมูลก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งต้องคุยกันถึงความชัดเจนและความพร้อมก่อนตัดสินใจในอนาคต
“ทั้ง 4 โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซี ปตท.มีความสนใจทั้งหมด เนื่องจากทุกโครงการมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นมาบตาพุด ที่ก่อสร้างคลังเก็บแอลเอ็นจี ซึ่ง ปตท.ก็ดำเนินธุรกิจดังกล่าวอยู่แล้วก่อนหน้านี้ และท่าเรือแหลมฉบังที่เป็นท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ รวมถึงสนามบินอู่ตะเภา เนื่องจาก ปตท.มีการขายน้ำมันให้กับเครื่องบินอยู่แล้ว แต่ทุกอย่างต้องศึกษาก่อน ในอนาคตถ้าบอร์ดให้ความเห็นชอบ”
ขณะเดียวกัน ในระยะ 5 ปี (ปี 2562-2566) เฉพาะในส่วนของ ปตท.จะมีวงเงินรวม 167,114 ล้านบาท แบ่งเป็นด้าน Prosperity ซึ่งหมายถึงการเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วย 1.Do now คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 55,291 ล้านบาท 2.Decide now หมายถึง การตัดสินใจการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 91,203 ล้านบาท 3.Design now คือ เร่งแสวงหาโอกาสและพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ (New S-Curve) จำนวน 14,525 ล้านบาท
ขณะที่ในด้านการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้จัดสรรแผนงบประมาณจำนวน 6,095 ล้านบาท เน้นการทำงานผ่านสถาบันปลูกป่า ปตท. และร่วมจัดการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) โดย ปตท. ได้จัดสรรงบประมาณ 2,900 ล้านบาท มุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ให้เป็นศูนย์กลางงานวิจัยด้านเทคโนโลยี วัสดุ พลังงานทดแทน และดิจิทัล เพื่อร่วมยกระดับขับเคลื่อนสังคมสู่อนาคต
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ในปีนี้ ปตท.จะเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นที่ฐานใน อีอีซีไอ บนแนวคิดสมาร์ทอินเนอร์ยี่ สมาร์ทเทคโนโลยี สมาร์ทอินฟาดักเจอร์ เพื่อทำให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ที่ อ.วังจันทร์ จังหวัดระยอง ให้เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลกในอนาคต โครงการนี้จะเริ่มเห็นผลเชิงพาณิชย์ในปี 2564 ซึ่งมั่นใจว่าจากนั้นไปไทยจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งอาเซียน
นอกจากนี้ ปตท.จะเน้นหนักเข้าไปช่วยเหลือด้านการศึกษาของประเทศ ด้วยการจัดทำโครงการโรงเรียนประชารัฐ หรือเข้าไปสนับสนุนโรงเรียนระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ผ่านการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาด้านช่างฝีมือ เพื่อป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในอีอีซี ผ่านการเรียนการสอนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซีที่จังหวัดระยอง เพื่อทำให้เป็นสถานศึกษาระดับอาชีวะชั้นนำของประเทศไทย นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแผนพัฒนาปั้มน้ำมันของ ปตท.ทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน ด้วยการใช้พื้นที่ของปั๊มน้ำมันให้เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าชุมชน.