นายกฯ เคาะแนวทางพัฒนาใหม่ ด้านสาธารณสุข การศึกษา และเศรษฐกิจ 6 เรื่อง ชี้เป็นการปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่การพัฒนาเมืองสะเต็มศึกษา ผุดย่านนวัตกรรมทางการแพทย์สร้างการลงทุน 47,600 ล้านบาท พัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ พลิกโฉมระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ ประหยัดงบปีละ 70,000 ล้านบาท พร้อมวางแพลตฟอร์มวางรากฐานด้านนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มจีดีพี
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการหรือแนวทางการพัฒนาที่เป็นเรื่องใหม่ของประเทศรวม 6 เรื่อง ใน 3 ด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และเศรษฐกิจ ที่อยู่ภายใต้แนวทางการปฏิรูปประเทศที่จะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วย 1.ยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (STEM) ซึ่งเป็นความรู้ที่จำเป็นอย่างมากต่ออาชีพในอนาคต โดยจะมีการพัฒนาเมืองสะเต็มศึกษา พัฒนาบุคลากรครูเครื่องมือการเรียนการสอน STEM เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2562 ระยะเวลา 8 ปี ใช้งบ 4,279 ล้านบาท มีเป้าหมายให้คะแนนสอบ PISA2021 ของนักเรียนไทยมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น ซึ่งจากเดิมอยู่ระดับต่ำจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2.การพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ซึ่งจะเป็นการพัฒนาสินทรัพย์ด้านการแพทย์ย่านโยธีที่มีโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง ผลักดันให้มีโครงการนวัตกรรมการแพทย์ โครงการและผลิตภัณฑ์ งานวิจัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ไปสู่ท้องตลาดได้ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2572 รวม 10 ปี โดยมีเป้าหมายในการสร้างดีพเทคสตาร์ตอัพด้านการแพทย์อย่างน้อย 50 ราย สร้างมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท เกิดการลงทุนเฉลี่ย 11,900 ล้านบาทต่อปี และสร้างผลกระทบและการลงทุน 47,600 ล้านบาท นอกจากนี้ จะพัฒนาย่านนวัตกรรมอื่นๆเพิ่มขึ้น
3.ประเทศไทยต้องปักหมุดการสร้างขีดความสามารถด้านการแพทย์จีโนมิกส์ เป็นการใช้ข้อมูลรหัสพันธุกรรม (ยีน) และข้อมูลจำเพาะ และเปลี่ยนการวินิจฉัยเป็นการแพทย์เชิงป้องกันมากกว่าการรักษา เพราะเชื่อว่ามนุษย์ถูกโปรแกรมมาแล้วในยีน ร่วมกับการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อมว่าจะเป็นโรคอะไร เสียชีวิตอะไร จึงจะมีการคิดค้นยาที่รักษาเฉพาะบุคคล โดยนายกรัฐมนตรีให้นโยบายเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ของประเทศ ที่จะทำให้งบทางการแพทย์ลดลงปีละ 70,000 ล้านบาท โดยจะมีการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomic Thailand) ปี 2563-2567 ที่ต่อไปจะเลือกใช้หรือเพิ่มประสิทธิภาพของยาและเทคโนโลยีในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาฟื้นฟู ลดภาวะแทรกซ้อน และป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา
4.การขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG in Action) ซึ่งจะเป็นการต่อยอด Innovation Hubs พัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อวางรากฐานด้านนวัตกรรมให้กับประเทศใน 5 ส่วนหลัก โดยใช้งบประมาณ 3,250 ล้านบาท ได้แก่ พลังงานและวัสดุชีวภาพ สุขภาพการแพทย์ เกษตรและอาหาร การท่องเที่ยว และดิจิทัลและไอโอที ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ คิดเป็น 22% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สร้างงาน 20 ล้านคน จะมีโอกาสเติบโตเป็น 25% ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่า 4.7 ล้านล้านบาท โดยจะเป็นฐานการสร้างนวัตกรรมระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็งของประเทศในอนาคต โดยจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 140,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานทักษะสูงไม่ต่ำกว่า 10,000 ตำแหน่ง ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
5.การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้การดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เสนอผ่านทางคณะกรรมการ ป.ย.ป. และจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ป.ย.ป. ด้านพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยมี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รมช.กลาโหม เป็นที่ปรึกษา ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหาร พิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ด้วย 6.การพัฒนาสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ ให้กำหนดเรื่องการพัฒนาสมุนไพร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ และให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง 10 กระทรวง ร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ภายในปี 2564 มูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว จาก 180,000 ล้านบาท เป็น 360,000 ล้านบาท ภายในปี 2564.