ท่ามกลางเศรษฐกิจไม่ดี ยังมีข่าวดีสวนกระแส KNIGHT FRANK’S LUXURY INVESTMENT INDEX รายงานว่า บรรดาของสะสมเพื่อการลงทุนที่ได้รับความนิยมระดับสากลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไวน์แพงและหายาก เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงปรี๊ดแก่ผู้ลงทุนสะสมถึง 192%
คำถามก็คือ จริงหรือ? และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไวน์ชั้นดีและหายากกลายเป็นที่ถวิลหาของบรรดานักดื่มกระเป๋าหนักจากทั่วโลก...แล้วเมืองไทยล่ะ อยู่ในอารมณ์เดียวกันด้วยหรือไม่?
เพื่อให้ได้คำตอบที่น่าเชื่อถือ เราไปคลี่คลายเรื่องนี้กันกับ วีรพงษ์ หงษ์สกุล หรือคุณบอย เจ้าของตำแหน่ง 1 ใน 10 สุดยอดผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ในเมืองไทย 5 ปีซ้อน (Top 10 best sommelier of Thailand)
แต่ก่อนจะไปคลี่คลายคำตอบ เรามาปูพื้นทำความรู้จักกับโลกกว้างของไวน์กันก่อน
บอยเปรียบเปรยเอาไว้อย่างคมคายว่า ไวน์ก็เหมือนหญิงสาว
คนหนึ่งที่เราเพิ่งเลือกคบ ยังไม่รู้ว่านิสัยใจคอของเธอจะเป็นเช่นไร เช่น กระด้าง อ่อนโยน พร้อมดื่มหรือพร้อมจะคบหากับเราต่อหรือไม่...จนกว่าคุณจะได้เปิดขวดออกมาเพื่อดู ดม อม ดื่ม เพื่อค้นหา...จึงจะรู้แน่ชัดว่า เธอหรือไวน์ขวดนั้นเป็นเช่นไร
ในโลกของไวน์ แบ่งออกคร่าวๆได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ ไวน์โลกเก่า ซึ่งหมายถึงไวน์ที่ผลิตจากประเทศทางแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และโปรตุเกส เป็นต้น
กับอีกประเภท คือ ไวน์โลกใหม่ ซึ่งมักจะมีการใช้สารปรุงแต่ในกรรมวิธีทำไวน์มากขึ้น เช่น เติมสี หรือสารให้ความหวานบางอย่าง เพื่อช่วยเพิ่มแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์จากออสเตรเลีย ชิลี และอาร์เจนตินา เป็นต้น
สิ่งที่ต้องรู้ถัดมา แม้จะเป็นไวน์แบรนด์หรือยี่ห้อเดียวกัน แต่ก็การันตีหรือรับประกันไม่ได้ว่า ในแต่ละปี หรือที่เรียกกันว่า “วินเทจ” รสชาติจะออกมาเหมือนกันหรือไม่
ทั้งนี้ เพราะรสชาติของไวน์ขึ้นกับผลผลิตขององุ่นในแต่ละปี ยกตัวอย่าง ปีไหนแดดดี แดดแรง องุ่นจะได้ผลผลิตดี คุณภาพของไวน์ซึ่งผลิตมาจาก
องุ่นก็จะพลอยดีตาม
แต่ในทางตรงข้าม ปีไหนฝนชุก ต้นองุ่นจะดูดซึมเอาน้ำเข้าไปมาก รสชาติขององุ่นจะออกมาบาง หรือไม่เข้มข้นเท่าที่ควร ทำให้รสชาติของไวน์ที่ผลิตในปีนั้น พลอยบางตาม ไวน์ที่ผลิตในปีหรือวินเทจนั้น จึงถือว่า มีคุณภาพไม่ดีนัก
ไวน์ดีหรือไม่ดี จะรู้ได้อย่างไร...กูรูบอย...แนะข้อสังเกตง่ายๆเบื้องต้นว่า
ขั้นแรกเริ่มจากใช้สายตา “ดู” ว่า สีของไวน์ที่รินออกมาเป็นเช่นไร ปกติหรือไม่ ถ้าออกไปทางสีน้ำตาลเข้ม แสดงว่าไวน์เริ่มเสีย ถัดมาให้ “ดม” ถ้ากลิ่นเริ่มออกไปทางซีอิ๊วหรือจิ๊กโฉ่ แสดงว่าเป็นไวน์เสีย หรือคุณภาพไม่ดี ขั้นถัดมาคือ “อม” ถ้ามีรสชาติออกไปทางน้ำส้มสายชู แสดงว่าเริ่มเน่า
ขั้นตอนสุดท้ายคือ ทดลอง “ดื่ม” ไวน์ที่ดีต้องมีความสมดุล หรือ Balance เช่น รสต้องไม่เปรี้ยวเกินไป ระดับแอลกอฮอล์ต้องไม่แรงเกินไป ช่วงที่ไวน์ไหลผ่านในลำคอ ต้องมีมิติน่าจดจำที่ยาวนาน ไม่ใช่ดื่มแล้วหายวับ ไม่น่าจดจำ ถือว่าไม่ต่างกับผู้หญิงที่สวยแต่รูปจูบไม่หอม
ทีนี้ก็มาทำความรู้จักกับ “ราชันย์แห่งไวน์ดังของโลก” บ้าง
บอยบอกว่า แหล่งปลูกไวน์ที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสมีอยู่ 2 แหล่งหลักๆ คือ ทางเขต บอร์โด (Bordeaux) ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของฝรั่งเศส เทียบคร่าวๆประมาณ จ.กาญจนบุรีของไทย กับอีกแหล่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เบอร์กันดี (Burgundy) พิกัดเทียบได้คร่าวๆ ประมาณ จ.ขอนแก่นของไทย
ไวน์แดงชั้นเลิศที่จัดอยู่ในอันดับ 5 เสือแถวหน้า หรือจะเรียกว่า “เบญจภาคี” ของวงการไวน์โลก ได้มีการจัดชั้นและประเภทเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1855 และปัจจุบันยังคงใช้อ้างอิงอยู่ มีทั้งสิ้น 5 แบรนด์ คือ
1.Lafite Rothschid (ลาฟิต รอธชายด์) 2.Latour (ลาตูร์) 3.Margaux (มาร์โก) 4.Mouton Rothschid (มูตอง รอธชายด์) และ 5.Haut Brion (โอ บรีออง) ทั้ง 5 ขวดนี้เป็นไวน์จากฝั่งบอร์โดทั้งสิ้น
แต่ “ซัมเมอริเยร์บอย” ของเราบอกว่า แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นไวน์ชั้นเลิศของโลก แต่ไวน์กลุ่มนี้กลับหาได้มีราคาแพงที่สุดในโลกไม่ ไวน์ที่มีราคาแพงสุดของโลก กลับมาจากทางฝั่งเบอร์กันดี ซึ่งมี 2 แบรนด์ที่มีชื่อเสียง คือ 1.Romanee Conti (โรมานี คองติ) กับ 2.Henry Jayer (อองรี จาแย)
กูรูไวน์ของเราเปรียบเทียบสนนราคาปัจจุบันของไวน์เหล่านี้ แบบพอให้เห็นภาพคร่าวๆ
Lafite Rothschid กับของค่าย Latour จะมีราคาพอๆกัน คือ วินเทจถูกๆ หรือปีที่ผลผลิตองุ่นไม่ดีนัก เช่น ปี 2007 กับ 2011 ปัจจุบันขายกันอยู่ขวดละประมาณ 23,000-25,000 บาท แต่ถ้าเป็นปีแพงๆ หรือปีที่ผลผลิตองุ่นดี เช่น ปี 1982 หรือ 2000 ราคาจะตกขวดละประมาณ 1 แสนบาท
ส่วน Mouton Rothschid ปีที่ผลผลิตองุ่นไม่ดี ราคาขวดละประมาณ 17,000 บาท แต่ปีที่ผลผลิตองุ่นดีจะมีราคาถึงขวดละ 8 หมื่นบาท ใกล้เคียงกับ Haut Brion ปีที่ผลผลิตไม่ดี ตกขวดละ 15,000 บาท ส่วนปีที่ผลผลิตองุ่นดี ราคาขวดละประมาณ 70,000 บาท เป็นต้น
แต่เมื่อเทียบกับไวน์แดงของ Romanee Conti ปีที่ผลผลิตองุ่นไม่ดี เช่น ปี 2004 มีฝนตกเยอะ ปัจจุบันขายกันขวดละ 400,000 บาท ส่วนปีที่วินเทจดีๆ อย่างเช่น ปี 1990 ราคาขายอยู่ที่ขวดละ 1 ล้านกว่าบาท
เช่นเดียวกับไวน์ของ Henry Jayer ซึ่งมีไร่องุ่นอยู่เหนือถัดจากไร่ของโรมานี คองติ ขึ้นไปนิดเดียว แต่มีพื้นที่ไม่มากเท่า จึงผลิตไวน์ได้เพียงปีละไม่กี่ร้อยขวด สนนราคาจะพอๆกัน
ทีนี้ก็มาถึงช่วงของการคลี่คลายปริศนาว่า เหตุใดไวน์ดีและหายาก จึงทำผลกำไร หรือมูลค่าเพิ่มของการสะสมให้แก่เจ้าของได้สูงถึง เกือบ 200%
กูรูไวน์ของเราตอบชัดถ้อยชัดคำว่า เป็นเรื่องจริงที่นักลงทุนเพื่อสะสมไวน์ดังระดับโลกจะได้รับผลตอบแทนสูงเกือบ 200% แถมยังอาจมากกว่านั้นด้วยซ้ำ ซึ่งถือว่ามีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าการเก็งกำไรที่ดินเสียอีก
“เกิดจากการที่ราคาไวน์ทั่วโลกปรับเพิ่มทุกปี แค่ไวน์ทั่วๆไป ยังมีราคาแพงขึ้นปีละประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งเป็นไวน์แพงมีระดับอย่าง 5 เสือ หรือจากฝั่งเบอร์กันดี อย่างโรมานี คองติ หรืออองรี จาแย ด้วยแล้ว ผลกำไรจากการลงทุนของนักสะสมอาจพุ่งขึ้นไปถึง 300 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ”
บอยบอกว่า ไวน์วินเทจเก่าๆที่จัดอยู่ในกลุ่มแถวหน้าของโลก เปรียบเหมือนกับภาพวาดของศิลปินเอกอย่างแวนโก๊ะ หรือปีกัสโซ ที่มีอยู่แค่ไม่กี่ชิ้นในโลก ถ้ารู้ว่าใครมีไว้ในครอบครองมักจะถูกตามตื๊อ แต่เจ้าของก็มักไม่ยอมขาย เพราะส่วนใหญ่ล้วนเป็นมหาเศรษฐีนักสะสมกันแทบทั้งนั้น ถ้าอยากได้จริงต้องไปประมูลเป็นลอตๆเอาจากสถาบันประมูลดังระดับโลก อย่างคริสตี หรือโซเธอบี
ไวน์ใหม่บางตัวที่มีแววดาวรุ่ง อนาคตดี มีบอดี้ที่เข้มข้น มีโครงสร้างเนื้อไวน์สวยงาม รสชาติกลมกล่อม ดื่มง่าย ดื่มสนุก ก็เช่นกัน ใครนึกอยากจะลงทุนสะสมไว้เก็งกำไร แม้ว่าไวน์ยังบ่มอยู่ในถัง ยังไม่บรรจุขวด ทุกวันนี้ต้องบินไปสั่งจองและชำระเงินไว้ล่วงหน้าถึงแหล่งผลิต อย่างที่เรียกกันว่า En Premier (ออง พรีเมอร์)
“แบบเดียวกับทุเรียนเมืองนนท์เลยครับ ต้องไปมัดจำกันไว้ตั้งแต่ยังลูกเล็กๆอยู่บนต้น ไม่งั้นไม่มีทางได้กินไวน์ดาวรุ่งตัวใหม่หลายตัวก็เช่นกัน ถึงจองไว้แล้วก็ยังต้องรอไปอีก 2 ปี พอไวน์เริ่มบรรจุขวด ราคาจะดีดขึ้นมาทันที สมมติจากขวดละ 10,000 บาท กลายเป็น 15,000 บาท ยิ่งเก็บสะสมยาวอีก 10 ปี ราคาจะพุ่งไปเป็น 50,000 บาท ซึ่งถือว่ามีกำไรเกินกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ซะอีก”.