ครม.ดันไทยแลนด์ 4.0 เต็มสูบ หนุนงานวิจัยเพิ่มมูลค่าสินค้า
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ... จัดตั้งกระทรวงใหม่ โดยควบรวมบางส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นกระทรวงแห่งอนาคต ร่วมกันตอบโจทย์ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการคิดค้นและใช้นวัตกรรมต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอยู่และอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยงานวิจัยจะทำ 2 เรื่องคือ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศแข่งขันได้ และสร้างคนที่สามารถผลิตงานวิจัยและเตรียมคนเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่
“ทั้งนี้ ตามที่ ก.พ.ร.เสนอมาให้ใช้ชื่อว่า กระทรวง วิจัย และนวัตกรรม แต่ ครม. ตั้งข้อสังเกตให้คิดชื่อใหม่ และใช้คำที่สื่อให้ต่างประเทศเข้าใจว่าประเทศ ไทยมีการปฏิรูปกระทรวงเพื่อคิดค้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมขึ้นมา ซึ่งตามแผนที่วางไว้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณา กฎหมายนี้ คาดแล้วเสร็จและประกาศใช้ในเดือน ม.ค.ปีหน้า ฉะนั้น ในเดือน ก.พ.2562 จะเห็นโฉมหน้าของกระทรวงใหม่ โดยกระทรวงใหม่จะเป็นการรวบรวมงบประมาณ 75% ของหน่วยงานที่มีงบวิจัยของไทยมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งหน่วยงานที่มารวมกันมาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ 11 หน่วยงาน สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 84 แห่ง สถาบันอุดมศึกษาที่กำกับโดยเอกชน 73 แห่ง เมื่อรวมกันแล้ว จะสามารถใช้ทรัพยากร เครื่องมือต่างๆ ห้องแล็บทำงานวิจัย ขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนจะปรับให้สอดคล้องกับที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการจริงๆ ด้านงานวิจัยคิดค้นก็เป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ”
ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ครม.ยังได้เห็นชอบตามกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเสนอ การยกระดับการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยยกเว้นให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ปรับเพิ่มเพดานการกำหนดอัตราเงินเดือนของบุคลากร จากเดิมไม่เกิน 30% ของเงินอุดหนุนประจำปี อีกทั้งให้นำผลประโยชน์ที่ได้จากการผลิตงานวิจัยมาปันผลให้นักวิจัยได้ และเห็นชอบให้พัฒนานวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐ จากเดิมที่ทำตามความต้องการของนักวิจัย ตลอดจนเห็นชอบในหลักการของการตั้ง Holding Company ที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบเอกชน.