กสทช.กลับลำห้าม “แจส โมบาย” ประมูลคลื่น 1800 ขณะที่หลักเกณฑ์การประมูล รอดูผลคัดเลือก กสทช.ชุดใหม่ 19 เม.ย.นี้ เตรียมส่งข้อมูลช่วยเหลือทีวีดิจิทัล-มือถือให้ “วิษณุ” ภายในสัปดาห์นี้ ย้ำแนวทางช่วยของ กสทช.รัฐได้ประโยชน์
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิมจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาในวันที่ 11 เม.ย.นี้ แต่เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะคัดเลือก กสทช. ชุดใหม่ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ฉะนั้นควรรอผลการคัดเลือก กสทช.ชุดใหม่ว่าเป็นอย่างไร หากได้กรรมการชุดใหม่แล้ว ก็ควรให้การเปิดประมูลเป็นหน้าที่ของกรรมการชุดใหม่
ส่วนเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประมูลนั้น สำนักงาน กสทช.ขอยืนยันที่จะเปิดประมูล 3 ใบ ใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ และไม่ให้บริษัท แจส โมบาย จำกัด ผู้ทิ้งการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เข้าร่วมประมูล ถึงแม้จะชำระค่าเสียหายครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่าไม่คุ้มค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น หากอนุญาตให้แจส โมบาย เข้าร่วมประมูลอีก ผู้ประกอบการรายอื่นๆไม่มีความมั่นใจและจะไม่มีใครเข้าร่วมประมูล เพราะเกรงว่าแจส โมบาย เข้ามาประมูลแล้วจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมคือ ไม่ยอมชำระเงินค่าประมูล
“กสทช.ไม่ได้กลับไปกลับมา จากเดิมที่อนุญาตให้แจส โมบาย เข้าร่วมประมูล แต่ขณะนี้ไม่อนุญาตแล้ว เนื่องจาก กสทช.ได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว และฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว”
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการโทร-คมนาคมนั้น ขณะนี้ กสทช.ได้ทำข้อมูลเพื่อชี้แจงต่อรัฐบาล และชี้แจงต่อสังคมผ่านสื่อมวลชนให้รับทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นการช่วยเหลือทีวีดิจิทัล และมือถือ โดยภายในสัปดาห์นี้ จะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาต่อไป
“ข้อมูลที่ กสทช.นำเสนอต่อรัฐบาลนั้น เป็นข้อมูลที่ได้เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย วิเคราะห์อย่างละเอียด และประโยชน์ที่รัฐจะได้รับแล้ว หากรัฐพิจารณาแล้วจะไม่เชื่อข้อมูลของ กสทช.ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐ ข้อมูลใดที่มีประโยชน์ รัฐก็ต้องเชื่อข้อมูลนั้น แต่ กสทช.ขอยืนยันว่าข้อมูลที่เสนอให้ คสช.พิจารณานั้น รัฐได้ประโยชน์มาก เพราะจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง”
นายฐากร กล่าวว่า การช่วยเหลือทีวีดิจิทัลยังยืนยันเช่นเดิม คือพักชำระค่าประมูลเป็นเวลา 3 ปี และจ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลให้เป็นเวลา 24 เดือน ส่วนการช่วยผู้ประกอบการมือถือด้วยการขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จาก 4 งวด เป็น 8 งวด เนื่องจากงวดที่ 4 ที่ต้องชำระในปี 2563 นั้น เป็นวงเงินที่สูงมาก โดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด ต้องชำระราว 60,218 ล้านบาท บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ต้องชำระ 59,574 ล้านบาท
“การขอขยายเวลาการชำระค่าประมูลนั้น เอกชนไม่ได้หยุดชำระแต่อย่างใด เพียงแต่ขอแบ่งเบาภาระยอดชำระในงวดที่ 4 เท่านั้น เพื่อจะได้มีเงินนำไปลงทุน และร่วมประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ กสทช.ก็ได้พิจารณาและวิเคราะห์แล้วว่า นอกจากรัฐจะได้รับประโยชน์จากอัตราค่าดอกเบี้ย 3,593 ล้านบาทแล้ว กสทช.ยังได้เสนอแนวทางให้ คสช.ประกอบการพิจารณาว่า หากเปิดประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐก็จะได้เงินตั้งแต่ปี 2561-2567 รวม 251,154 ล้านบาท หากประมูล 3 ใบ รัฐก็จะได้เงิน 291,314 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะเป็นการใช้คลื่นอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือเอกชนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลและ คสช.หากไม่ช่วยเหลือ เอกชนก็ต้องชำระเงินเต็มจำนวนตามสัญญา แต่หากช่วยเหลือก็มีเงินที่จะไปขยายการลงทุน ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ”.