ใช้ “ภาษี” จูงใจภาคเอกชน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ใช้ “ภาษี” จูงใจภาคเอกชน

Date Time: 2 ต.ค. 2560 07:45 น.

Summary

  • “สุวิทย์” สั่งบีโอไอ ส่งเสริมการลงทุนในสมาร์ทซิตี้ 7 จังหวัดนำร่อง จูงใจเอกชนหอบเงินมาลงทุน พร้อมออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนรายภาค

Latest

พลังงานจับมือ “ซัสโก้” ลดดีเซล1บาทรับปีใหม

สั่งบีโอไอเร่งส่งเสริมลงทุน “สมาร์ทซิตี้”

“สุวิทย์” สั่งบีโอไอ ส่งเสริมการลงทุนในสมาร์ทซิตี้ 7 จังหวัดนำร่อง จูงใจเอกชนหอบเงินมาลงทุน พร้อมออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนรายภาค หวังดึงศักยภาพแต่ละพื้นที่มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจมากที่สุด

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้บีโอไอไปจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อรองรับการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของเมืองอัจฉริยะ (Smart city) โดยจะต้องมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ทั้งในส่วนที่เป็นมาตรการทางภาษี (Tax intensive) และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non tax intensive) เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาเมืองและพัฒนาประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยนำร่องพัฒนาต้นแบบใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และ 3 จังหวัดในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 จังหวัดจะแล้วเสร็จในปี 2561 จากนั้นรัฐบาลมีแผนที่จะขยายโครงการเมืองอัจฉริยะไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศต่อเนื่องภายในปี 2564 “การลงทุนในสมาร์ทซิตี้ จะต้องมีการกำหนดเรื่องของสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่การลงทุนรูปแบบเดิม ที่จะให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ แต่เป็นเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้มีความทันสมัยและรองรับเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานเรื่องดิจิทัล และการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ซึ่งบีโอไอต้องมีเครื่องมือเหล่านี้เอาไว้รองรับการลงทุนในอนาคตด้วย”

นอกจากนี้ ยังให้นโยบายกับบีโอไอ เรื่องการปรับรูปแบบการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาจังหวัด และแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยจากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เดินทางไปประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ใน จ.นครราชสีมา และ จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะที่การเดินทางไปหารือกับสถานศึกษาชั้นนำในระดับอุดมศึกษาหลายจังหวัด ได้เห็นถึงศักยภาพเชิงพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดขนาดใหญ่ สามารถเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของภูมิภาคนั้นๆ และมีแนวทางในการพัฒนาเมืองตนเองที่น่าสนใจ เช่น จ.ขอนแก่น มีการจัดตั้งบริษัท พัฒนาเมือง จำกัด โดยรูปแบบนี้จะขยายไปอีกหลายจังหวัดของประเทศ ขณะที่ในแง่ของทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆ ก็มีความเหมาะสมที่จะเป็นฐานการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัตถุดิบที่จะสนับสนุนฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกได้

ดังนั้น บีโอไอจะต้องมีแผนส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละภาคด้วย เพื่อดึงเอาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ออกมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมจากในอดีตแล้ว เช่น มีกองทุนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศวงเงิน 10,000 ล้านบาท ในระยะต่อไปเมื่อมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยกระจายการลงทุนไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมากขึ้น

นายสุวิทย์กล่าวว่า เรื่องการปรับโครงสร้างของหน่วยงานราชการ ปัจจุบันมี 3 หน่วยงานที่เสนอขอปฏิรูปการทำงานของหน่วยงานตัวเองตามกรอบการปฏิรูประบบราชการและการปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิด (Mind set) ให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และบีโอไอ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ