ผลสำรวจจากพนักงานเกือบ 1,000 คน ใน 6 ประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย จำนวน 130 คน พบว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา คนไทย 41% ลาออกจากงาน เพราะ ‘ความต้องการด้านค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น’ และอีก 40% ลาออกเพื่อ ‘ความก้าวหน้าในอาชีพที่ดีขึ้น’
โดยสิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ หนึ่งในสามหรือ 35% ยอมรับว่าได้ติดต่อกับนายจ้างคนเก่า และสามในสี่หรือว่า 72% เปิดใจที่จะกลับไปทำงานที่เดิมกับนายจ้างคนเก่า หากเป็นไปตามเงื่อนไขเหล่านี้
โรเบิร์ต วอลเทอร์ส หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดหางานมืออาชีพชั้นนำของโลก ผู้ทำการสำรวจ ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่ยังคงมีการติดต่อกับอดีตบริษัทที่ตนเคยทำงานด้วยมากที่สุด ซึ่งคนไทยจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 10 หรือเพียง 8% เท่านั้นที่ไม่ได้ติดต่อกับอดีตนายจ้างเลย โดยผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 92% ยอมรับว่า พวกเขายังคงมีการติดต่อกับหัวหน้า เพื่อรักษาโอกาสทางอาชีพเดิมไว้
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าคนไทยส่วนหนึ่งเปิดกว้างในการรับพนักงานเก่ากลับมาอีกครั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม และส่วนหนึ่งยืนยันที่จะไม่พิจารณาเลย โดยผู้จัดการจำนวนเกือบ 70% จะพิจารณาให้ “อดีตพนักงานที่มีผลงานดี” กลับมาทำงาน และผู้จัดการอีก 12% มองว่าต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและรอบคอบ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความระแวดระวังมากที่สุดในแง่มุมพอสมควร
นางปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติม ปัจจุบันคนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีกับอดีตนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ การได้รับคำปรึกษา การพัฒนาวิชาชีพ หรือเป็นเพราะความสัมพันธ์ที่ดีที่พวกเขาได้สร้างร่วมกันมา
นายจ้างควรเปิดกว้างพร้อมกับรักษาการสื่อสารกับอดีตพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพราะพนักงานเก่าที่ยังคงมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กันนั้นถือได้ว่ามีทักษะวิชาชีพที่ตอบโจทย์ ซึ่งถือว่าได้เปรียบกว่าการสรรหาพนักงานใหม่
ทักษะของอดีตพนักงานยังสามารถนำมาใช้งานได้ทันที พวกเขาได้รับการสอนงานเพื่อเข้าสู่ธุรกิจของคุณแล้ว พวกเขายังมีความคุ้นเคยกับกระบวนการต่างๆ และมีความสนใจในแบรนด์มาก่อน ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้อาจใช้เวลาหลายปีในการปลูกฝังให้กับพนักงานใหม่
ทั้งนี้ นายจ้างต้องสร้างความสมดุลในการบริหารจัดการการกลับมาทำงานอีกครั้งของพนักงานบูมเมอแรง และพนักงานในบริษัทที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอดีตพนักงานที่กลับมาทำงานในตำแหน่งที่สูงกว่าตอนที่พวกเขาออกจากงาน.