
นักวิจัยพบกลไกป้องกันไวรัสโควิด-19 บน “รกแม่”
ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด คนท้องเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะการให้ยาผู้ป่วยขณะตั้งครรภ์อาจมีผลสู่ทารกด้วย ดังนั้นการให้วัคซีนโควิดก็ต้องระวัง และหาช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ควรฉีด เพื่อความปลอดภัยของทั้งสองชีวิต
โควิด-19 เป็นโรคที่เพิ่งมีวัคซีนคิดค้นขึ้นมาใหม่ ในบางประเทศก็เริ่มฉีดให้กับประชาชนแล้ว แต่หนึ่งในคำถามที่ทั่วโลกสนใจคือวัคซีนโควิดปลอดภัยกับหญิงตั้งครรภ์หรือไม่ นักวิจัยทั่วโลกจึงเร่งศึกษาอาการโควิดในกลุ่มผู้ป่วยตั้งครรภ์
ผลการศึกษาของ 3 สถาบันทางการแพทย์ ได้แก่ Harvard Medical School, Massachusetts General Hospital และ Boston Children's Hospital พบกลไกบางอย่างบนรกแม่ที่ป้องกันเชื้อโควิด-19 เข้าสู่เด็กทารกในครรภ์ นำไปสู่การวางแผนให้วัคซีนโควิดแก่คนท้องได้ในอนาคต
“รกแม่” เป็นด่านแรกของไวรัส คอยป้องกันทารกติดโควิด

“รกแม่” เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติออกแบบมาให้ปกป้องชีวิตใหม่ให้ปลอดภัย แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีเทคโนโลยีทันสมัย แต่ก็ยังอธิบายกลไกของรกไม่ได้ทั้งหมด การศึกษา “รกแม่” กับเชื้อไวรัส “SARS-CoV-2” มีนักวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 แห่ง ได้แก่ Placenta, JAMA Network และ CELL
งานวิจัยเกี่ยวกับรกและเชื้อโควิดฉบับแรกตีพิมพ์ในวารสาร Placenta ช่วงเดือนตุลาคม 2020 พบว่าเชื้อ SARS-CoV-2 เจาะผ่านรกได้เพียงบางส่วน โดยเฉพาะชั้นนอกสุดที่ติดกับเลือดของมารดา อันเป็นด่านแรกที่ไวรัสจะผ่านเข้าไปหาทารกในครรภ์
ทีมวิจัยได้ติดตามโปรตีนรับสัญญาณบนรกชื่อว่า ACE2 พบว่ามีระดับน้อยในมารดาที่ไม่ติดเชื้อ แต่พบมากในกลุ่มมารดาที่ติดเชื้อโควิด จึงตั้งสมมติฐานว่า ACE2 มีส่วนสำคัญช่วยป้องกันเชื้อ SARS-CoV-2
นอกจากนี้ ทีมค้นคว้ายังพบโปรตีนของไวรัสชื่อว่า TMPRSS2 บนผิวรก จึงเป็นอีกข้อสันนิษฐานที่ต้องศึกษาต่อไปว่าไวรัสพยายามใช้โปรตีนจับกับตัวรับ (Receptor) ตัวอื่นบนรกหรือไม่
คนท้องไตรมาส 3 ถ่ายทอดแอนติบอดี้ต่อโควิดสู่ทารกได้น้อย

เนื่องจากการแสดงออกของโรคและพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิดมีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไอกรน จึงมีการศึกษาเปรียบเทียบกับเชื้อไวรัสของโรคใกล้เคียง งานวิจัยเรื่องที่สอง ตีพิมพ์ใน JAMA Network เดือนธันวาคม 2020 พบว่านอกจากเชื้อไวรัสไม่ส่งต่อสู่เด็กแรกเกิดแล้ว ยังมีปริมาณแอนติบอดี้ต่อโควิดน้อยกว่าที่คาดไว้ สมมติฐานนี้จึงนำไปสู่งานวิจัยชิ้นที่สาม โดยทีมวิจัยเดียวกัน และตีพิมพ์บนวารสาร Cell
การศึกษาเรื่องรกของผู้ป่วยโควิดซึ่งตีพิมพ์ใน JAMA Network ติดตามผลจากหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 3 จำนวน 127 คน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบอสตัน ระหว่างวันที่ 2 เมษายน ถึง 13 มิถุนายน 2020 พบว่าหญิงตั้งครรภ์ 64 คน มีผลบวกพบเชื้อ SARS-CoV-2 และพบในระบบทางเดินหายใจของแม่ แต่ไม่พบในเลือดหรือในสายสะดือของทารก สรุปคือไม่พบสัญญาณที่จะทำให้เด็กทารกติดเชื้อโควิดตั้งแต่ในครรภ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่าแอนติบอดี้จะถ่ายทอดจากรกสู่ทารกในครรภ์มารดาสูงสุดในไตรมาสที่ 3 จึงไม่คิดว่าแอนติบอดี้ต่อไวรัสโควิดจะลดลงเมื่อเทียบกับแอนติบอดี้ต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่
ทีมวิจัยพบว่าแม้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ที่มีผลทดสอบแอนติบอดี้ต่อไวรัสโควิด SARS-CoV-2 เป็นบวก แต่การถ่ายทอดแอนติบอดี้เหล่านี้สู่ทารกในครรภ์ น้อยกว่าการถ่ายทอดแอนติบอดี้ต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นจุดตั้งต้นให้ทีมวิจัยเดียวกันศึกษาต่อและได้สรุปไว้ในวารสาร CELL ถึงสาเหตุการถ่ายทอดที่ลดลงนี้ไว้ว่า เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของแอนติบอดี้ขณะผ่านเข้าสู่รก กลไกนี้เรียกว่า ไกลโคซิเลชัน (Glycosylation) ซึ่งก็คือกระบวนการยืดคาร์โบไฮเดรตเข้ากับโมเลกุลที่อาจเป็นโทษต่อการถ่ายทอดแอนติบอดี้จากมารดาสู่รกที่ลดลง

พวกเขาสังเกตพบว่าโมเลกุลคาร์โบไฮเดรตที่ยึดติดกับแอนติบอดี้ SARS-CoV-2 ในเลือดของมารดาแตกต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่จำเพาะต่อโรคไข้หวัดไอกรน และไข้หวัดใหญ่ ข้อนี้จึงเป็นการอธิบายกลไกการดัดแปลงแอนติบอดี้ในเลือดของแม่ไม่ให้จับกับรกได้
ทีมวิจัยยังพบแอนติบอดี้ที่ทำหน้าที่พิเศษ (functional antibodies) อื่นๆ จากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารกในครรภ์ด้วยปริมาณที่สูง จึงนำไปสู่เลือกระยะเวลาฉีดวัคซีนโควิดให้แก่หญิงตั้งครรภ์ได้ในอนาคต
ที่มา : hms.harvard.edu