ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา “โรคมะเร็ง” เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย โดยมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิง 5 อันดับแรกคือ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และมะเร็งปอด มะเร็งจึงเป็นโรคสำคัญที่ทุกคนควรจะเฝ้าระวังร่างกายของตนเองให้ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งผู้หญิงเป็นกันมาก และเมื่อเป็นแล้ว จำเป็นจะต้องใส่ใจดูแลสุขภาวะทางนรีเวชด้วย เพราะมีความเกี่ยวข้องกัน

รู้จักระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

• ปากช่องคลอดและช่องคลอด (Cervix and vagina) อยู่ระหว่างทวารหนักกับปากท่อปัสสาวะ เป็นบริเวณที่ใช้สำหรับมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ และเป็นทางผ่านของทารกเมื่อคลอด

• ปากมดลูก (Cervix) อยู่ด้านในสุดของช่องคลอด กั้นระหว่างช่องคลอดกับตัวมดลูก คอยกั้นไม่ให้ทารกคลอดออกมาก่อนเจ็บครรภ์

• มดลูก (Uterus) อยู่ในช่องท้องน้อย มีขนาดประมาณ 7-10 เซนติเมตร เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ทารกก็จะอยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคลอด มดลูกก็จะกลับมามีขนาดเท่าเดิม และถ้าไม่มีการตั้งครรภ์ มดลูกก็จะทำหน้าที่ผลิตประจำเดือนออกมาในทุกๆ เดือน

• ท่อนำไข่และรังไข่ (Fallopian tube or oviduct and ovary) เป็นอวัยวะที่สำคัญอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มีด้วยกัน 2 ข้างในช่องท้องน้อย มีทำหน้าที่ผลิตไข่และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง

ไข่ใบที่สุกเต็มที่แล้ว จะหลุดออกมาจากรังไข่ เรียกว่า การตกไข่ (Ovulation) จากนั้นไข่จะเข้าไปใน ท่อนำไข่ หากมีเพศสัมพันธ์กันในช่วงนี้ มีเชื้ออสุจิเข้ามาผสมกับไข่ ก็จะเกิดการปฏิสนธิ ตัวอ่อนก็จะเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกต่อไป แต่หากไข่ไม่ได้รับการผสมก็จะสลายไป และหลุดออกมาสู่ภายนอกพร้อมๆ กับผนังมดลูก เรียกว่า “ประจำเดือน (Menstruation)” ซึ่งประจำเดือนจะหมดเมื่ออายุประมาณ 45-50 ปี

...

สมองของคนเรามีฮอร์โมนที่ผลิตออกมาเพื่อควบคุมต่อมใต้สมอง ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญ ได้แก่ เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวนี้ทำหน้าที่ร่วมกัน โดยเอสโตรเจนจะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไข่ตก ทำให้มีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหยุดหนาตัว และหลุดลอกกลายเป็น “ประจำเดือน” ในทุกๆ เดือนนั่นเอง ซึ่งเป็นธรรมชาติของผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แต่หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ไข่ก็จะหยุดตก 9 เดือน จนทารกคลอดออกมา ก็จะกลับมาตกทุกเดือนเหมือนเดิม

ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน เป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อเต้านม เพราะเอสโตรเจนเป็นตัวสำคัญในการทำให้เต้านมเจริญเติบโต ส่วนโปรเจสเตอโรนก็มีผลเรื่องของท่อน้ำนม ดังนั้นยาหรือการรักษาที่มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมน 2 ตัวนี้ ก็อาจจะมีผลต่อทั้งเต้านมและระบบสืบพันธุ์เพศหญิงได้

การแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม

ส่วนมากจะแพร่กระจายไปที่ปอด เยื่อหุ้มปอด และกระดูก ในทางนรีเวชมะเร็งเต้านมสามารถแพร่กระจายไปได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยมาก โดยสามารถแพร่กระจายไปที่รังไข่ประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ และแพร่กระจายไปที่มดลูกไม่ถึง 10%

อาการเมื่อแพร่กระจายไปที่ “รังไข่”

อาการและอาการแสดงจะไม่ค่อยเฉพาะเจาะจง คล้ายกับโรคมะเร็งรังไข่ จนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นมะเร็งรังไข่ หรือเป็นการแพร่กระจายของมะเร็งจากที่อื่น อาการที่พบบ่อยได้แก่

- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย โดยให้สังเกตเวลากลางคืน หากตื่นมาปัสสาวะบ่อยๆ ควรมาตรวจเช็กอย่างละเอียด

- รู้สึกอิ่มง่าย เนื่องจากเนื้องอกไปรบกวนกระเพาะและลำไส้ ทำให้กินอาหารได้ไม่เต็มที่

- ท้องอืด เนื่องจากมีก้อนมารบกวนกระเพาะเช่นกัน

อาการเมื่อแพร่กระจายไปที่ “มดลูก”

มีเลือดออกหลังจากที่หมดประจำเดือนไปนานแล้ว ดังนั้นในคนที่หมดประจำเดือนแล้วจู่ๆ มีเลือดออก ก็ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นมะเร็งที่กระจายมา หรือเป็นอาการของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

การรักษามะเร็งเต้านมที่มีผลต่อทางนรีเวช

1.การทำเคมีบำบัด จะส่งผลให้คนไข้มีภูมิคุ้มกันต่ำลงกว่าคนปกติทั่วๆ ไป และทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งโรคทางอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่ต้องการภูมิคุ้มกันเป็นพิเศษเลยก็คือบริเวณปากมดลูก ในคนที่โสด ก็แทบจะไม่ต้องกังวลในเรื่องของมะเร็งปากมดลูก เพราะส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์

ส่วนในคนที่แต่งงานแล้ว มีโอกาสจะเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูงได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีส่วนน้อยของการติดเชื้อ HPV ที่จะพัฒนาไปถึงขั้นเป็นมะเร็ง แต่หากร่างกายของคนไข้ไม่แข็งแรง มีภูมิต้านทานต่ำ โอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งก็จะเร็วขึ้น

ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษา HPV ได้ แต่มีวัคซีน HPV แล้ว คนที่มีสามีก็ควรฉีดป้องกันไว้ แต่หากไม่สามารถฉีดได้ ก็ควรตรวจภายในสม่ำเสมอ

2.การใช้ยาฮอร์โมน ยาสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมคือ “Tamoxifen (ทาม็อกซิเฟน)” ตัวยาจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งส่งผลให้มะเร็งเต้านมขยายใหญ่ขึ้น มักใช้ในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากเต้านมไปยังอวัยวะอื่นๆ หรือเพิ่งผ่านการผ่าตัดและรักษาด้วยวิธีรังสีบำบัด และใช้สำหรับป้องกันโรคมะเร็งเต้านมในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง จึงเป็นยาที่ดีสำหรับคนไข้มะเร็งเต้านม อย่างไรก็ดี การใช้ยานี้จะไปกระตุ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนา และอาจมีผลข้างเคียงคือ มีตกขาวบ้างเล็กน้อย ก็ไม่ต้องกังวลใดๆ ยกเว้นมีเลือดออก หรือตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่น อาการคัน ให้รีบไปพบสูตินรีแพทย์ทันที

...

ยังมีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับนรีเวชสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมกันอีก รอติดตามได้ในบทความสัปดาห์หน้านะคะ

@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

รศ.พญ.อาบอรุณ เลิศขจรสุข ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล