การรักษา
การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีมากมายหลายประการขึ้นกับชนิดของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ความรุนแรง อายุ สภาพการใช้ชีวิต และประการสำคัญคือ การกลั้นปัสสาวะนั้นได้กระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด การรักษาจึงไม่มีสูตรตายตัว จะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป
พฤติกรรมบำบัด
การปรับปรุงพฤติกรรมและปรับสภาพการใช้ชีวิต
จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีอาการดีขึ้นได้ พอจะสรุปได้ ดังนี้
@ การควบคุมน้ำดื่ม และเครื่องดื่ม จะแนะนำให้ดื่มน้ำมากในช่วงที่เข้าห้องน้ำสะดวก งดดื่มในช่วงที่ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้สะดวกนัก เช่น ช่วงเดินทาง ช่วงทำงานที่ไม่สามารถปลีกเวลาไปเข้าห้องน้ำได้เลย หรือก่อนนอน เป็นต้น อีกประการหนึ่งที่จะต้องปรับคือ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่จะกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินกว่าปกติ เช่น กาแฟ หากจะดื่มก็ต้องกำหนดเวลา ไม่ดื่มพร่ำเพรื่อ ส่วนแอลกอฮอล์ ก็มีผลทำให้มีปริมาณปัสสาวะออกมาก ก็ควรหลีกเลี่ยงหรือเลือกเวลาที่หากปัสสาวะออกมากแล้วไม่กระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น งดเว้นก่อนเข้านอน เป็นต้น
@ การฝึกถ่ายปัสสาวะ โดยทั่วไปหากดื่มน้ำตามปกติจะถ่ายปัสสาวะ 2 ชั่วโมงครึ่งถึง 3 ชั่วโมงต่อครั้ง ในช่วงตื่นนอน ดังนั้นหากผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยกว่านี้ ทั้งๆ ที่ดื่มน้ำปกติ และอยู่ในสิ่งแวดล้อมปกติ สามารถฝึกฝนให้ถ่ายปัสสาวะห่างกว่านี้ การพยายามยืดเวลาในการถ่ายปัสสาวะออกไปอาจจะทำได้โดยการขมิบเกร็งกล้ามเนื้อเชิงกราน การเบนความสนใจจากการปวดปัสสาวะ การกดบริเวณฝีเย็บก็ทำให้สามารถยืดเวลาถ่ายปัสสาวะออกได้ การฝึกนี้จะต้องค่อยๆ ทำ เพราะจะต้องใช้เวลา มักจะไม่สามารถยืดเวลาในการถ่ายปัสสาวะออกได้นานๆ ในระยะเวลาสั้นๆ
...
@ การฝึกกล้ามเนื้อเชิงกราน เป็นการรักษาที่ได้ผลกับผู้หญิง เป็นการทำการฝึกฝนเพื่อให้กล้ามเนื้อเชิงกรานแข็งแรง ทั้งนี้กล้ามเนื้อเชิงกรานเป็นส่วนที่ช่วยพยุงอวัยวะเชิงกรานเอาไว้ ทำให้กลไกการทำงานของหูรูดแข็งแรง การฝึกกล้ามเนื้อเชิงกรานให้แข็งแรงนี้จะช่วยรักษาให้ผู้ที่มีปัญหาไอ จาม ปัสสาวะเล็ดราดดีขึ้น เพราะกล้ามเนื้อเชิงกรานจะช่วยพยุงกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะไว้ไม่ให้เคลื่อนตัวลงมา เมื่อมีการไอ จาม หรือออกแรงเบ่งช่องท้อง การฝึกกล้ามเนื้อเชิงกรานนี้เป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายน้อย เพียงแต่ต้องมีความตั้งใจ เพราะใช้เวลานานหลายเดือนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่หากอาการดีขึ้นแล้ว จะอยู่คงทนไปกับตัวเรา หากไม่เลิกฝึกกล้ามเนื้อเชิงกรานไปเสียก่อน
@ การกระตุ้นไฟฟ้า ทำโดยการสอดอุปกรณ์ที่นำไฟฟ้าแรงดันต่ำทางช่องคลอด หรือทางทวารหนัก กระตุ้นให้กล้ามเนื้อที่เป็นกลไกหูรูดมีการรัดตัว เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อดังกล่าว คล้ายๆ กับการฝึกกล้ามเนื้อเชิงกราน เพียงแต่อาศัยกระแสไฟฟ้าเป็นตัวบังคับ กลไกการทำงานในการกลั้นปัสสาวะก็เช่นเดียวกับการฝึกกล้ามเนื้อเชิงกราน
@ การใช้ยารักษา มียาหลายชนิดที่สามารถใช้รักษาภาวะปัสสาวะเล็ดราดได้
ยากลุ่มที่มีประสิทธิภาพลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่ Diutropan, Detrusitol, Spasmolyt, Vesicare เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะให้ลดลง ไม่มีการบีบตัวก่อนถึงเวลาสมควร ผู้ป่วยที่สามารถใช้ยานี้ได้เป็นผู้ที่ปัสสาวะราด หรือปวดปัสสาวะรุนแรงต้องรีบไปถ่ายปัสสาวะ ถึงแม้ว่ายากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา แต่หากเลือกใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องอาจจะมีอาการข้างเคียงได้มากพอสมควร รวมถึงมีข้อควรระวังในการใช้ เช่น ผู้ที่เป็นต้อหินมุมแคบไม่สามารถใช้ยานี้ได้ อาการข้างเคียงอาจจะเป็นอาการที่ไม่มากนัก เช่น ปากแห้ง คอแห้ง หรือท้องผูก หรืออาการมากขึ้น เช่น ปัสสาวะไม่ออก ใจสั่น ตาพร่ามัวก็ได้ ดังนั้นการใช้ยานี้จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์
ยาที่จะช่วยบรรเทาอาการไอ จาม ปัสสาวะราดนั้น มีการพยายามคิดค้นหายาเพื่อบรรเทาอาการนี้ แต่ในปัจจุบันถึงแม้จะมียาที่สามารถใช้ในกรณีนี้ได้ก็ตาม แต่เท่าที่มีรายงานการใช้ยานี้ยังมีอาการข้างเคียงมาก จึงยังไม่มีการใช้แพร่หลาย
@ การใช้อุปกรณ์รองรับปัสสาวะ อุปกรณ์รองรับปัสสาวะถึงแม้จะมีการใช้กันมานานก็ตาม ยังคงเป็นการรักษาที่ยังคงมีประโยชน์และยังคงมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีความต้องการใช้วิธีนี้ เช่น อายุมาก พิการ ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เป็นต้น
อุปกรณ์รองรับปัสสาวะ เช่น ถุงรองรับปัสสาวะ ซึ่งผู้ที่เหมาะสมที่จะใช้ได้แก่ผู้ป่วยชาย เพราะมีองคชาตที่สามารถสวมอุปกรณ์ได้ง่าย ผู้ป่วยหญิงจะไม่สามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ดี อุปกรณ์รองซับยังมีการออกแบบอีกหลายประเภท เช่น ผ้าอ้อม กางเกง หรือผ้าอนามัย อีกทั้งยังมีการพัฒนาให้วัสดุนั้นๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการซึมซับปัสสาวะได้มากขึ้น เพื่อไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย และไม่เปียกแฉะจนระคายเคืองต่อผิวหนัง กระทบต่อสุขอนามัย
@ อุปกรณ์ช่วยเสริมการทำงานของหูรูด ที่นิยมใช้ ได้แก่ อุปกรณ์สอดใส่ในช่องคลอดเพื่อประคองท่อปัสสาวะและส่วนที่ทำหน้าที่หูรูดไม่ให้มีการเลื่อนลง เวลาไอ จาม หรือเบ่งท้อง จึงสามารถใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไอ จาม ปัสสาวะราด และช่องคลอดจะต้องสามารถรองรับอุปกรณ์นั้นได้ หากไม่สามารถรองรับอุปกรณ์ได้จะเป็นภาระหนักของผู้ป่วย นอกจากนั้นยังมีการออกแบบอุปกรณ์ที่สามารถสอดเข้าท่อปัสสาวะอุดท่อปัสสาวะไว้ได้ เมื่อต้องการถ่ายปัสสาวะก็ถอดอุปกรณ์นี้ออก ถ่ายปัสสาวะเสร็จก็สอดชิ้นใหม่เข้าไปแทน แต่ในปัจจุบันยังไม่นิยมใช้แพร่หลาย เพราะจะต้องใช้อย่างถูกหลักการ รวมถึงความสะอาด และต้องใช้ให้ถูกในผู้ป่วยแต่ละราย
...
@ การรักษาทางศัลยกรรม ได้แก่ การผ่าตัดเพื่อการรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ได้แก่ การผ่าตัดเพื่อเสริมหูรูดให้แข็งแรง เพื่อรักษาผู้ที่ไอ จาม ปัสสาวะเล็ดราด เพราะกลไกการที่ผู้ป่วยมีไอ จาม ปัสสาวะเล็ดราดนั้นเกิดจากการหย่อนตัวของหูรูด การผ่าตัดอื่นๆ ที่มีการใช้ ได้แก่ การขยายกระเพาะปัสสาวะ เพราะกระเพาะปัสสาวะเล็กเกินไป การขยายกระเพาะปัสสาวะโดยทั่วไปจะช่วยส่วนหนึ่งส่วนใดของลำไส้มาเสริม ทำให้กระเพาะปัสสาวะโตขึ้น เก็บปัสสาวะได้มากขึ้น แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีความจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดรักษา
------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
คู่มือความรู้ภาคประชาชนเรื่อง “กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัญหาที่ไม่ควรละเลย” โดย ศ. นพ.วชิร คชการ สาขาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล